fbpx
WeLoveMed.com

FMS การให้ความรู้แก่บุคลากร

การให้ความรู้แก่บุคลากร (Staff Education)

มาตรฐาน FMS.11
องค์กรจัดการศึกษา ฝึกอบรม และทดสอบบุคลากรทั้งหมด เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ในการจัดให้มีอาคารสถานที่สำหรับการดูแลผู้ป่วยที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผล

มาตรฐาน FMS.11.1
บุคลากรได้รับการฝึกอบรมและมีความรู้เกี่ยวกับบทบาทของตนตามแผนขององค์กรสำหรับความปลอดภัยด้านอัคคีภัย การรักษาความปลอดภัย วัตถุอันตราย และภาวะฉุกเฉิน

มาตรฐาน FMS.11.2
บุคลากรได้รับการฝึกอบรมเพื่อปฏิบัติงานและบำรุงรักษา เทคโนโลยีทางการแพทย์ และระบบสาธารณูปโภค

เจตนาของ FMS.11 ถึง FMS.11.2
บุคลากรขององค์กรเป็นกลุ่มหลักที่ติดต่อกับผู้ป่วย ครอบครัว และผู้มาเยือน | ด้วยเหตุนี้ บุคลากรจำเป็นต้องได้รับการศึกษาและฝึกอบรม เพื่อปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ในการบ่งชี้และลดความเสี่ยง ป้องกันผู้อื่นและตนเอง รวมทั้งทำให้อาคารสถานที่มีความปลอดภัยและสวัสดิภาพ (ดูที่ FMS.7.1, ME 1)

แต่ละองค์กรต้องกำหนดประเภทและระดับของการฝึกอบรมให้แก่บุคลากร ออกแบบและจัดทำเอกสารสำหรับโปรแกรมการศึกษาอบรมนี้ | โปรแกรมนี้อาจรวมถึงการสอนเป็นกลุ่ม เอกสารความรู้ การปฐมนิเทศบุคลากรใหม่ หรือกลไกอื่นๆ ที่ตอบสนองความต้องการขององค์กร | โปรแกรมนี้รวมถึงการสอนกระบวนการรายงานความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิด การรายงานอุบัติการณ์และการบาดเจ็บ และการหยิบสัมผัสวัตถุอันตรายหรือวัตถุอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อตนเองและผู้อื่น

บุคลากรที่มีหน้าที่ใช้หรือบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้รับการฝึกอบรมพิเศษ | การฝึกอบรมอาจจะทำโดยองค์กร ผู้ผลิตเทคโนโลยี หรือแหล่งความรู้อื่นๆ

องค์กรวางแผนโปรแกรมที่ถูกออกแบบเพื่อทดสอบความรู้ของบุคลากรอย่างสมํ่าเสมอ เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในภาวะฉุกเฉินรวมถึงการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยด้านอัคคีภัย การตอบสนองต่ออันตราย เช่น การหกรั่วไหลของวัตถุอันตราย และการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยและบุคลากร | การทดสอบความรู้สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การสาธิตรายบุคคลหรือกลุ่ม การสมมติเหตุการณ์ เช่น มีโรคระบาดในชุมชน การสอบข้อเขียนหรือการทดสอบผ่านคอมพิวเตอร์ หรือวิธีอื่นๆ ที่เหมาะสมกับความรู้ที่จะทดสอบ | องค์กรบันทึกข้อมูลผู้ได้รับการทดสอบและผลการทดสอบ

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ FMS.11
Ο 1. สำหรับแต่ละองค์ประกอบของโปรแกรมบริหารจัดการอาคารสถานที่และความปลอดภัยขององค์กร มีการวางแผนและให้ความรู้เป็นประจำทุกปีเพื่อสร้างความมั่นใจว่าบุคลากรในทุกกะสามารถปฏิบัติตามหน้าที่ รับผิดชอบของตนอย่างมีประสิทธิผล (ดูที่ AOP.5.3, ME 4 และ AOP.6.3, ME 4)
Ο 2. การให้ความรู้ครอบคลุมถึงผู้มาเยือน ผู้ขายของ ผู้ปฏิบัติงานภายใต้สัญญาจ้าง และบุคคลอื่นๆ ตามที่องค์กรระบุ
Ο 3. มีการทดสอบความรู้ของบุคลากรเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ในการดูแลรักษาอาคารสถานที่ให้ปลอดภัย
Ο 4. มีการบันทึกข้อมูลการฝึกอบรมและทดสอบบุคลากร บุคคลที่ได้รับการฝึกอบรม และผลการทดสอบ

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ FMS.11.1
Ο 
1. บุคลากรสามารถอธิบาย และ/หรือ แสดงบทบาทหน้าที่ของตนเมื่อเกิดไฟไหม้
Ο 2. บุคลากรสามารถอธิบาย และ/หรือ แสดงการปฏิบัติเพื่อกำจัด ลด หรือรายงาน ความปลอดภัย สวัสดิภาพ และความเสี่ยงอื่นๆ
Ο 3. บุคลากรสามารถอธิบาย และ/หรือ แสดงการระมัดระวัง วิธีการปฏิบัติ และการมีส่วนในการจัดเก็บ การหยิบสัมผัส และการกำจัดก๊าซทางการแพทย์ ของเสียและวัตถุอันตราย และในภาวะฉุกเฉินที่เกี่ยวข้อง
Ο 4. บุคลากรสามารถอธิบาย และ/หรือ แสดงวิธีการปฏิบัติงาน และบทบาทหน้าที่เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินและอุบัติภัย ภายในองค์กรและในชุมชน

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ FMS.11.2
Ο 1. บุคลากรได้รับการฝึกอบรมเพื่อปฏิบัติงานกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับงานของตน
Ο 2. บุคลากรได้รับการฝึกอบรมเพื่อปฏิบัติงานกับระบบสาธารณูปโภคที่เหมาะสมกับงานของตน
Ο 3. บุคลากรได้รับการฝึกอบรมเพื่อบำรุงรักษาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับงานของตน
Ο 4. บุคลากรได้รับการฝึกอบรมเพื่อบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภคที่เหมาะสมกับงานของตน


FMS – การนำและการวางแผน | ความปลอดภัยและสวัสดิภาพ | วัตถุอันตราย | การเตรียมพร้อมรับอุบัติภัย | ความปลอดภัยด้านอัคคีภัย | เทคโนโลยีทางการแพทย์ | ระบบสาธารณูปโภค | การติดตามโปรแกรมบริหารจัดการอาคารสถานที่ | การให้ความรู้แก่บุคลากร