fbpx
WeLoveMed.com

FMS การนำและการวางแผน

การนำและการวางแผน  (Leadership and Planning)

มาตรฐาน FMS.1
องค์กรปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และข้อกำหนดเกี่ยวกับการตรวจสอบอาคารสถานที่

เจตนาของ FMS.1
กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และการตรวจสอบโดยผู้มีอำนาจหน้าที่ในพื้นที่ เป็นตัวกำหนดสำคัญว่าอาคารสถานที่จะได้รับการออกแบบ ใช้ และบำรุงรักษาอย่างไร | ทุกองค์กรไม่ว่าจะมีขนาดและทรัพยากรเท่าไร จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ โดยถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบต่อผู้ป่วย ครอบครัว บุคลากร และผู้มาเยือน | ข้อกำหนดดังกล่าวอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอายุและที่ตั้งของอาคาร และปัจจัยอื่นๆ | ตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารและความปลอดภัยด้านอัคคีภัย เช่น ระบบสปริงเกอร์ จะบังคับใช้เฉพาะกับอาคารใหม่เท่านั้น | องค์กรเริ่มด้วยการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
ผู้นำองค์กร ประกอบด้วยผู้กำกับดูแลกิจการและผู้บริหารระดับสูง มีหน้าที่รับผิดชอบต่อไปนี้

  • รับรู้ว่ากฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และข้อกำหนดอื่นๆ ฉบับใดบ้างที่ต้องนำมาใช้กับอาคารสถานที่ขององค์กร
  • นำข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง หรือข้อกำหนดที่เป็นทางเลือกซึ่งได้รับการอนุมัติ มาสู่การปฏิบัติ
  • วางแผนและจัดงบประมาณสำหรับการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนที่จำเป็น ซึ่งบ่งชี้จากข้อมูลการติดตาม หรือเพื่อตอบสนองข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง, และแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามแผน (ดูที่ FMS.4.2)

เมื่อองค์กรถูกระบุว่าไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ผู้นำมีหน้าที่รับผิดชอบในการวางแผนและดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดในช่วงเวลาที่กำหนดให้

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ FMS.1
Ο 1. ผู้นำองค์กรและผู้รับผิดชอบบริหารอาคารสถานที่ รับรู้ว่ากฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และข้อกำหนดอื่นๆ ฉบับใดบ้างที่ต้องนำมาใช้กับอาคารสถานที่ขององค์กร
Ο 2. ผู้นำดำเนินการตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง หรือข้อกำหนดที่เป็นทางเลือกซึ่งได้รับการอนุมัติ
Ο 3. ผู้นำสร้างความมั่นใจว่าองค์กรปฏิบัติตามเงื่อนไขของรายงานการตรวจสอบอาคารสถานที่หรือเอกสารที่อ้างถึงจากการตรวจสอบของหน่วยงานในพื้นที่


มาตรฐาน FMS.2
องค์กรจัดทำและคงไว้ซึ่งแผนเป็นลายลักษณ์อักษร อธิบายถึงกระบวนการจัดการความเสี่ยงต่อผู้ป่วย ครอบครัว ผู้มาเยือน และบุคลากร

เจตนาของ FMS.2
การจัดการความเสี่ยงภายในสิ่งแวดล้อมซึ่งผู้ป่วยได้รับการตรวจรักษาและบุคลากรทำงาน ต้องอาศัยการวางแผน | องค์กรจัดทำแผนแม่บทหรือแผนย่อยที่เหมาะสมกับองค์กร ประกอบด้วย:

a) ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย (safety and security)
ความปลอดภัย – ระดับที่ไม่เกิดอันตรายหรือความเสี่ยงต่อผู้ป่วย บุคลากร หรือผู้มาเยือน จากอาคาร สนาม และเครื่องมือ
การรักษาความปลอดภัย – การป้องกันการสูญหาย ถูกทำลาย ความวุ่นวาย การเข้าถึงหรือการใช้โดยผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่
b) วัตถุอันตราย (hazardous materials) – มีการควบคุมการสัมผัส การจัดเก็บ และการใช้สารกัมมันตรังสีและวัตถุอันตรายอื่นๆ รวมทั้งการกำจัดของเสียอันตรายอย่างปลอดภัย
c) ภาวะฉุกเฉิน (emergencies) – มีการวางแผนตอบสนองต่อโรคระบาด ภัยพิบัติ และภาวะฉุกเฉิน และมีการตอบสนองอย่างมีประสิทธิผล
d) ความปลอดภัยด้านอัคคีภัย (fire safety) – มีการปกป้องทรัพย์สินและผู้พำนักอาศัยจากอัคคีภัยและควันไฟ
e) เทคโนโลยีทางการแพทย์ (medical technology) – มีการคัดเลือกเทคโนโลยี บำรุงรักษา และใช้งานเทคโนโลยีทางการแพทย์ในลักษณะที่ลดความเสี่ยง
f) ระบบสาธารณูปโภค (utility systems) – มีการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า ประปา และสาธารณูปโภคอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการล่มของระบบสาธาณูปโภคให้เหลือน้อยที่สุด

แผนดังกล่าวจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ในสิ่งแวดล้อมขององค์กรในปัจจุบันหรือเมื่อไม่นานมานี้ | มีกระบวนการทบทวนและปรับปรุงแผนให้เป็นปัจจุบัน | เมื่อองค์กรมีกิจการที่มิได้เป็นส่วนของโรงพยาบาลอยู่ในอาคารดูแลผู้ป่วยที่จะได้รับการสำรวจ (เช่น ร้านกาแฟหรือร้านของขวัญที่มีเจ้าของอิสระ) องค์กรจะต้องทำให้มั่นใจว่ากิจการอิสระเหล่านี้ปฏิบัติตามแผนบริหารอาคารและความปลอดภัย

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ FMS.2
Ο 1. มีแผนที่เป็นลายลักษณ์อักษรระบุถึงขอบเขตของความเสี่ยงในข้อ a) ถึง f) ในหัวข้อเจตนา
Ο 2. แผนดังกล่าวมีความเป็นปัจจุบันและได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างครบถ้วน
Ο 3. องค์กรมีกระบวนการทบทวนและปรับปรุงแผนให้ทันสมัยอย่างน้อยเป็นประจำทุกปี
Ο 4. เมื่อมีกิจการอิสระภายในอาคารสถานที่ดูแลผู้ป่วยที่จะเยี่ยมสำรวจ องค์กรทำให้มั่นใจว่ากิจการดังกล่าวปฏิบัติตามแผนการจัดการอาคารสถานที่ทุกด้านที่ระบุในข้อ a) ถึง d) ในหัวข้อเจตนา


มาตรฐาน FMS.3
มีบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างน้อยหนึ่งคน ทำหน้าที่กำกับดูแลการวางแผนโปรแกรมเพื่อลดและจัดการความเสี่ยงในสิ่งแวดล้อมของการดูแล และนำสู่การปฏิบัติ

เจตนาของ FMS.3
องค์กรทำงานเพื่อให้มีอาคารสถานที่ที่ปลอดภัย ใช้การได้ และเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วย ครอบครัว บุคลากร และผู้มาเยือน | เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ จะต้องมีการจัดการอาคารสถานที่ เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งบุคลากร อย่างมีประสิทธิผล | โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารจะต้องพยายาม

  • ลดและควบคุมอันตรายและความเสี่ยง
  • ป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ และ
  • คงไว้ซึ่งสภาพที่ปลอดภัย

การจัดการที่มีประสิทธิผล หมายรวมถึง การวางแผนในลักษณะหลากหลายสาขา การให้ความรู้ และการเฝ้าติดตามในประเด็นต่อไปนี้:

– ผู้นำวางแผนพื้นที่ใช้สอย เครื่องมืออุปกรณ์ และทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนบริการทางคลินิกที่จัดให้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิผล
– บุคลากรทุกคนได้รับการศึกษาเกี่ยวกับอาคารสถานที่ วิธีการลดความเสี่ยง วิธีการติดตาม และวิธีการรายงานสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง
– มีการใช้เกณฑ์ขีดสมรรถนะเพื่อประเมินระบบที่สำคัญและระบุการพัฒนาที่จำเป็น

มีการมอบหมายให้มีผู้นำและกำกับดูแลโปรแกรมบริหารความเสี่ยงของอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมอย่างน้อยหนึ่งคน |  ในองค์กรขนาดเล็กอาจจะมอบหมายให้มีผู้ทำหน้าที่นี้หนึ่งคนทำงานบางช่วงเวลา | ในองค์กรขนาดใหญ่ อาจต้องมอบหมายให้วิศวกรหรือผู้ได้รับการฝึกอบรมพิเศษอื่นๆ มากกว่าหนึ่งคน | ไม่ว่าจะมีการมอบหมายอย่างไร จะต้องมีการจัดการโปรแกรมทุกด้านอย่างมีประสิทธิผล สอดคล้อง และต่อเนื่อง | การกำกับดูแลโปรแกรมประกอบด้วย

a) การวางแผนโปรแกรมทุกด้าน เช่น แผนสำหรับการพัฒนา และทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณค่าสำหรับพื้นที่ใช้สอย เทคโนโลยี และทรัพยากร
b) การดำเนินงานของโปรแกรม
c) การให้ความรู้บุคลากร
d) การทดสอบและการติดตามโปรแกรม
e) การทบทวนและปรับปรุงโปรแกรมเป็นระยะ
f) รายงานประจำปีต่อผู้กำกับดูแลกิจการเกี่ยวกับประสิทธิผลของโปรแกรม และ
g) การจัดระบบงานและการจัดการที่สอดคล้องและต่อเนื่อง

อาจจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการความเสี่ยงด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่กำกับดูแลโปรแกรมและความต่อเนื่องของโปรแกรม ตามความเหมาะสมกับขนาดและความซับซ้อนขององค์กร

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ FMS.3
Ο 1. มีการมอบหมายหน้าที่กำกับดูแลและบริหารโปรแกรม ให้แก่บุคคลหนึ่งคนหรือมากกว่า ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมจากประสบการณ์และการฝึกอบรม
Ο 2. มีการบันทึกหลักฐานการฝึกอบรมและประสบการณ์ของผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม
Ο 3. ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหาร วางแผนโปรแกรมและนำสู่การปฏิบัติตามองค์ประกอบในข้อ a) ถึง g) ในหัวข้อเจตนา


FMS – การนำและการวางแผน | ความปลอดภัยและสวัสดิภาพ | วัตถุอันตราย | การเตรียมพร้อมรับอุบัติภัย | ความปลอดภัยด้านอัคคีภัย | เทคโนโลยีทางการแพทย์ | ระบบสาธารณูปโภค | การติดตามโปรแกรมบริหารจัดการอาคารสถานที่ | การให้ความรู้แก่บุคลากร