fbpx
WeLoveMed.com

ACC การคัดกรองผู้ป่วยสำหรับการรับไว้ในองค์กร

การคัดกรองผู้ป่วยสำหรับการรับไว้ในองค์กร (Screening for Admission to the Hospital)

มาตรฐาน ACC.1
ผู้ป่วยได้รับไว้เพื่อให้การดูแลแบบผู้ป่วยใน หรือลงทะเบียนสำหรับให้บริการผู้ป่วยนอก ตามความต้องการบริการสุขภาพที่ประเมินได้ และตามเป้าหมายและทรัพยากรขององค์กร ℗

เจตนาของ ACC.1
การพิจารณาความเหมาะสมระหว่างความต้องการของผู้ป่วยกับเป้าหมายและทรัพยากรของสถานพยาบาล ขึ้นกับการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการและสภาวะของผู้ป่วยผ่านการตรวจคัดกรอง ซึ่งมักกระทำเมื่อพบผู้ปวยครั้งแรก | การตรวจคัดกรองอาจทำโดยใช้เกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วย (triage criteria) การประเมินจากการสังเกต การตรวจร่างกาย หรือผลของการตรวจร่างกาย การตรวจทางจิตเวช การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจด้วยภาพวินิจฉัยที่ทำในครั้งก่อนๆ | การตรวจคัดกรองนี้สามารถทำได้ ณ แหล่งที่ส่งผู้ป่วย ระหว่างการเคลื่อนย้ายฉุกเฉิน (emergency transport) หรือเมื่อผู้ป่วยมาถึงองค์กร | สิ่งสำคัญคือการตัดสินใจว่าจะรักษา โอนย้าย (transfer) หรือส่งต่อ จะทำต่อเมื่อได้รับผลของการประเมินคัดกรองแล้ว | เฉพาะผู้ป่วยที่องค์กรมีศักยภาพทางคลินิกที่จะให้บริการที่จำเป็นได้และสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรเท่านั้น ที่จะได้รับการพิจารณารับไว้เป็นผู้ป่วยใน หรือลงทะเบียนเพื่อให้บริการผู้ปวยนอก | การทดสอบเพื่อคัดกรองผู้ป่วยอาจจำเป็นสำหรับผู้ป่วยทุกคนที่รับไว้เป็นผู้ป่วยใน หรือองค์กรอาจระบุการคัดกรองโดยเฉพาะและทดสอบประชากรผู้ป่วยโดยเฉพาะ | ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการท้องเสียต้องได้รับการคัดกรองเชื้อแบคทีเรีย Clostridium difficile ซึ่งเป็นโรคท้องร่วงรุนแรง หรือผู้ป่วยบางประเภทที่จำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อสแตฟฟิโลคอกคัส ออเรียส ที่ดื้อยาเมธิซิลิน (Methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA)) เช่น ผู้ป่วยทุกคนที่มาจากการดูแลระยะยาว | หากองค์กรต้องการให้มีการตรวจวิเคราะห์หรือประเมินคัดกรองบางอย่างเป็นการเฉพาะก่อนที่จะรับไว้เป็นผู้ป่วยในหรือลงทะเบียนผู้ป่วยนอก จะต้องมีการระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในนโยบาย (ดูที่ AOP.1)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.1
Ο 1. มีการตัดสินใจว่าความต้องการของผู้ป่วยเข้ากันได้กับเป้าหมายและทรัพยากรขององค์กรหรือไม่ ตามผลของการตรวจคัดกรอง (ดูที่ GLD.3.1, ME 1)
Ο 2. ผู้ป่วยได้รับไว้ดูแลต่อเมื่อองค์กรสามารถให้บริการที่จำเป็นแก่ผู้ป่วยได้ และมีสภาพแวดล้อมสำหรับการดูแลแบบผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในที่เหมาะสม
Ο 3. มีกระบวนการให้ข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์เพื่อการวินิจฉัยโรคแก่ผู้มีหน้าที่ตัดสินใจรับ โอนย้าย หรือส่งต่อผู้ป่วย
Ο 4. นโยบายระบุมาตรฐานการตรวจคัดกรองและการตรวจวิเคราะห์เพื่อการวินิจฉัยโรคก่อนรับเข้าเป็นผู้ป่วยใน หรือลงทะเบียนเพื่อให้บริการผู้ปวยนอก
Ο 5. ผู้ป่วยจะยังไม่ถูกรับไว้ดูแล โอนย้าย หรือส่งต่อ ก่อนที่จะได้รับผลการตรวจวิเคราะห์ที่ต้องการสำหรับการตัดสินใจ


มาตรฐาน ACC.1.1
ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลฉุกเฉิน เร่งด่วน หรือโดยทันที ได้รับการประเมินและรักษาก่อนผู้ป่วยอื่นๆ

เจตนาของ ACC.1.1
ผู้ป่วยซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลฉุกเฉิน เร่งด่วน หรือโดยทันที (เช่น การติดเชื้อจากอากาศ) ได้รับการบ่งชี้โดยใช้กระบวนการคัดแยกบนฐานข้อมูลวิชาการ (evidence-based triage process) | เมื่อผู้ป่วยได้รับการบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องได้รับการดูแลฉุกเฉิน เร่งด่วน หรือโดยทันที ผู้ป่วยเหล่านี้จะได้รับการประเมินและดูแลโดยเร็วที่สุดตามความจำเป็น | ผู้ป่วยดังกล่าวอาจได้รับการประเมินโดยแพทย์หรือผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมก่อนผู้ป่วยอื่น ได้รับบริการตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้ และเริ่มให้การรักษาที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย | กระบวนการคัดแยกอาจใช้เกณฑ์เชิงสรีรวิทยา (physiologic-based criteria) เมื่อเป็นไปได้และมีความเหมาะสม | องค์กรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อตัดสินใจว่าผู้ป่วยรายใดต้องการการดูแลโดยทันที และวิธีการที่การดูแลผู้ปวยเหล่านี้ได้รับความสำคัญในอันดับต้นๆ

เมื่อองค์กรไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินได้ และจำต้องโอนย้ายผู้ป่วยไปสู่การดูแลในระดับที่สูงขึ้น องค์กรผู้ส่งจะต้องให้การรักษาเพื่อผู้ป่วยมีอาการคงตัวตามระดับความสามารถที่มีอยู่ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.1.1
Ο 1. องค์กรใช้กระบวนการคัดแยกผู้ป่วยบนฐานข้อมูลวิชาการ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยทันที
Ο 2. บุคลากรได้รับการฝึกอบรมให้ใช้เกณฑ์ดังกล่าว
Ο 3. ผู้ป่วยได้รับการจัดลำดับตามความเร่งด่วนที่ต้องได้รับบริการ
Ο 4. ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการประเมินและรักษาให้มีอาการคงตัวตามระดับความสามารถขององค์กรก่อนที่จะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
Ο 5. การรักษาให้มีอาการคงตัวก่อนที่จะเคลื่อนย้ายได้รับการบันทึกไว้ในเวชระเบียนและบำรุงรักษาโดยองค์กรที่ทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย


มาตรฐาน ACC.1.2
องค์กรพิจารณาความต้องการทางคลินิกของผู้ป่วย เมื่อมีช่วงเวลาที่ต้องรอคอยหรือมีความล่าช้าในการให้บริการตรวจวินิจฉัย และ/หรือ รักษา ℗

เจตนาของ ACC.1.2
ผู้ป่วยได้รับการแจ้งให้ทราบหากเป็นที่รับรู้ว่าจะต้องรอคอยบริการตรวจวินิจฉัย และ/หรือ การรักษา เป็นเวลานาน หรือเมื่อการจะเข้ารับการดูแลที่วางแผนไว้ต้องถูกจัดไว้อยู่ในรายชื่อผู้รอคิว | ผู้ป่วยได้รับการอธิบายถึงเหตุผลของความล่าช้าหรือการรอคอย รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกอื่นๆ ที่มีอยู่ | ข้อกำหนดเรื่องการอธิบายเหตุผลนี้ใช้กับการดูแลแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก และ/หรือบริการตรวจวินิจฉัย มิใช่กับการรอคอยเล็กๆ น้อยๆ ในการให้การดูแลผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน เช่น การที่แพทย์มาไม่ตรงเวลา | สำหรับบริการบางประเภท เช่น มะเร็งวิทยา หรือการปลูกถ่ายอวัยวะ ความล่าช้าอาจเป็นสิ่งปกติของประเทศสำหรับบริการเหล่านั้น จึงมีความแตกต่างจากความล่าช้าสำหรับบริการตรวจวินิจฉัย

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.1.2
Ο 1. ผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกได้รับการแจ้งให้ทราบเมื่อจะมีความล่าช้าในการดูแล และ/หรือ การรักษา
Ο 2. ผู้ป่วยได้รับการแจ้งให้ทราบถึงเหตุผลของความล่าช้าหรือการรอคอย รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกที่สอดคล้องกับความต้องการทางคลินิกที่มีอยู่
Ο 3. มีการบันทึกข้อมูลดังกล่าวไว้ในเวชระเบียนผู้ป่วย


ACC – การคัดกรองผู้ป่วยสำหรับการรับไว้ในองค์กร | การรับไว้ในองค์กร | การดูแลอย่างต่อเนื่อง | การจำหน่าย การส่งต่อ และการนัดตรวจติดตาม | การโอนย้ายผู้ป่วย | การเคลื่อนย้าย