fbpx
WeLoveMed.com

ACC การจำหน่าย การส่งต่อ และการนัดตรวจติดตาม

การจำหน่าย การส่งต่อ และการนัดตรวจติดตาม (Discharge, Referral and Follow-up)

มาตรฐาน ACC.4
มีนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการส่งต่อหรือจำหน่ายผู้ป่วยขึ้นกับสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยและความต้องการในการดูแลหรือบริการต่อเนื่อง ℗

เจตนาของ ACC.4
การส่งต่อหรือจำหน่ายผู้ป่วยไปยังผู้ประกอบวิชาชีพด้านบริการสุขภาพที่องค์กรอื่น ลักษณะแวดล้อม (setting) การดูแลอื่น กลับบ้าน หรือไปอยู่กับครอบครัว ขึ้นกับสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยและความต้องการในการดูแลหรือบริการต่อเนื่อง | แพทย์เจ้าของไข้หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยต้องพิจารณาความพร้อมที่จะจำหน่าย ตามนโยบายและเกณฑ์หรือข้อบ่งชี้สำหรับการส่งต่อและจำหน่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งองค์กรกำหนด | อาจมีการใช้เกณฑ์เพื่อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยพร้อมที่จะรับการจำหน่าย | ความต้องการในการดูแลต่อเนื่องอาจหมายถึงการส่งต่อไปพบแพทย์เฉพาะทาง นักบำบัดฟื้นฟู หรือการประสานการดูแลเชิงป้องกันที่บ้านโดยครอบครัว | จำเป็นต้องมีกระบวนการที่เป็นระบบเพื่อให้มั่นใจว่าความต้องการการดูแลต่อเนื่องนั้นได้รับการตอบสนองโดยผู้ประกอบวิชาชีพด้านบริการสุขภาพหรือองค์กรภายนอกที่เหมาะสม | กระบวนการนี้หมายรวมถึงการส่งต่อผู้ป่วยไปยังแหล่งดูแลที่อยู่นอกเขตเมื่อจำเป็น | เมื่อมีข้อบ่งชี้ องค์กรจะเริ่มต้นวางแผนเพื่อตอบสนองความต้องการการดูแลต่อเนื่องดังกล่าวโดยเร็วที่สุดในกระบวนการดูแลเท่าที่จะทำได้ | ครอบครัวของผู้ป่วยมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนจำหน่ายตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยและความต้องการของผู้ป่วย (ดูที่ AOP.1.8) | มีนโยบายและระเบียบปฏิบัติเป็นแนวทางสำหรับกระบวนการอนุญาตให้ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลชั่วคราว (เช่น ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ถ้าองค์กรเปิดให้มีการอนุญาตดังกล่าว (“pass”))

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.4
Ο 1. ผู้ป่วยได้รับการส่งต่อ และ/หรือ จำหน่ายผู้ป่วย ตามสภาวะสุขภาพและความจำเป็นในการดูแลต่อเนื่องของผู้ป่วย
Ο 2. มีการพิจารณาความพร้อมในการจำหน่ายผู้ป่วยโดยใช้เกณฑ์หรือข้อบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยปลอดภัย
Ο 3. การวางแผนส่งต่อ และ/หรือ จำหน่ายผู้ป่วยเริ่มตั้งแต่แรกในกระบวนการดูแล
Ο 4. นโยบายขององค์กรให้แนวทางในการอนุญาตให้ผู้ป่วยออกนอกโรงพยาบาลในช่วงเวลาที่วางแผนการรักษาไว้โดยมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน


มาตรฐาน ACC.4.1
การให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้ป่วยและครอบครัวเกี่ยวข้องกับความจำเป็นในการดูแลต่อเนื่องของผู้ป่วย

เจตนาของ ACC.4.1
องค์กรจัดให้มีการให้ความรู้ในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงต่อผู้ป่วยเป็นปกติประจำ | การให้ความรู้มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยกลับสู่สภาวะเดิมและมีสุขภาวะในระดับที่เหมาะสม

องค์กรใช้สื่อและกระบวนการที่เป็นมาตรฐานในการให้ความรู้ผู้ป่วยอย่างน้อยในประเด็นดังนี้:

– การใช้ยาทุกตัวที่ผู้ป่วยได้รับอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิผล (ไม่เฉพาะยาที่ได้รับเมื่อจำหน่าย) รวมทั้งโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยา
– การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิผล
– โอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่สั่งให้ผู้ป่วย กับยาอื่นๆ (รวมถึงยาที่สามารถซื้อได้เองจากร้านขายยา (over-the-counter) และอาหาร
– อาหารและโภชนาการ
– การบำบัดความเจ็บปวด
– เทคนิคการฟื้นฟูสภาพ

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.4.1
Ο 1. ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาทุกตัวอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิผล โอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยา การป้องกันโอกาสเกิดปฏิกิริยากับยาที่ซื้อเองจากร้านขายยา และ/หรือ อาหาร
Ο 2. ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิผล
Ο 3. ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับความรู้เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการที่เหมาะสม
Ο 4. ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับความรู้เกี่ยวกับการบำบัดความเจ็บปวด
Ο 5. ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการฟื้นฟูสภาพ


มาตรฐาน ACC.4.2
องค์กรประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านบริการสุขภาพและหน่วยงานภายนอกเพื่อให้มั่นใจว่ามีการส่งต่อทันเวลาและเหมาะสม

เจตนาของ ACC.4.2
การส่งต่อผู้ป่วยให้แก่แพทย์ องค์กร หรือหน่วยงานอื่นที่สามารถตอบสนองความต้องการการดูแลต่อเนื่องของผู้ป่วยได้ดีที่สุดอย่างเหมาะกับเวลานั้นต้องอาศัยการวางแผน | องค์กรสร้างความคุ้นเคยกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านบริการสุขภาพในชุมชนเพื่อเข้าใจประเภทของผู้ป่วยที่ให้การรักษาและบริการที่จัดให้ และเพื่อสร้างสัมพันธภาพแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการกับผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านั้น | หากผู้ป่วยมาจากชุมชนอื่น องค์กรพยายามส่งต่อผู้ป่วยไปยังบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมหรือหน่วยงานในชุมชนที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่

ผู้ป่วยอาจต้องการบริการช่วยเหลือและการบริการทางการแพทย์เมื่อจำหน่าย | เช่น ผู้ป่วยอาจต้องการความช่วยเหลือทางสังคม โภชนาการ การเงิน จิตวิทยา หรือด้านอื่นๆ เมื่อจำหน่าย | ความพร้อมในการให้บริการเหล่านี้และการใช้บริการจริงอาจเป็นตัวกำหนดความต้องการสำหรับบริการทางการแพทย์ต่อเนื่อง | กระบวนการวางแผนจำหน่ายคำนึงถึงประเภทของบริการช่วยเหลือที่ต้องการและความพร้อมของบริการดังกล่าว

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.4.2
Ο 1. กระบวนการวางแผนจำหน่ายคำนึงถึงความต้องการทั้งบริการช่วยเหลือและบริการทางการแพทย์ต่อเนื่อง
Ο 2. การส่งต่อไปนอกองค์กรจะส่งไปให้บุคลากรและหน่วยงานในชุมชนที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ ถ้าเป็นไปได้
Ο 3. มีการส่งต่อสำหรับบริการช่วยเหลือ


มาตรฐาน ACC.4.3
สรุปข้อมูลเมื่อจำหน่ายของผู้ป่วยในมีความสมบูรณ์

เจตนาของ ACC.4.3
สรุปข้อมูลเมื่อจำหน่ายให้ภาพรวมของการอยู่รักษาตัวของผู้ป่วยในองค์กร | สรุปข้อมูลดังกล่าวอาจถูกใช้โดยผู้ให้บริการที่รับผิดชอบในการดูแลติดตาม | สรุปข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วย:

– เหตุผลที่รับไว้รักษา การวินิจฉัย และความผิดปกติที่พบร่วม (comorbidities)
– การตรวจร่างกายและการตรวจพบอื่นๆ ที่สำคัญ
– หัตถการที่กระทำเพื่อการวินิจฉัยโรคและเพื่อการรักษา
– รายการยาที่สั่งให้ผู้ป่วยระหว่างการเข้าพักซึ่งมีผลกระทบที่เหลือหลังจากเลิกใช้ยา และยาทั้งหมดที่ผู้ป่วยต้องได้รับเมื่ออยู่ที่บ้าน
– สภาวะของผู้ป่วยเมื่อจำหน่าย (เช่น รวมถึง “สภาวะมีการปรับปรุง” “สภาวะไม่เปลี่ยนแปลง” และอื่นๆ ที่คล้ายกัน)
– คำแนะนำการนัดติดตามตรวจรักษา

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.4.3
Ο 1. สรุปข้อมูลเมื่อจำหน่ายมีเหตุผลที่รับไว้รักษา การวินิจฉัยโรค และความผิดปกติที่พบร่วม (comorbidities)
Ο 2. สรุปข้อมูลเมื่อจำหน่ายมีการตรวจร่างกายและการตรวจพบอื่นๆ ที่สำคัญ
Ο 3. สรุปข้อมูลเมื่อจำหน่ายมีหัตถการที่กระทำเพื่อการวินิจฉัยโรคและเพื่อการรักษา
Ο 4. สรุปข้อมูลเมื่อจำหน่ายมีรายการยาสำคัญ รวมถึงยาที่สั่งให้ผู้ป่วยเมื่อจำหน่าย
Ο 5. สรุปข้อมูลเมื่อจำหน่ายมีสภาวะของผู้ป่วยเมื่อจำหน่าย
Ο 6. สรุปข้อมูลเมื่อจำหน่ายมีคำแนะนำการนัดติดตามตรวจรักษา


มาตรฐาน ACC.4.3.1
ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำการนัดติดตามตรวจรักษาในรูปแบบและภาษาที่ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่าย

เจตนาของ ACC.4.3.1
การให้คำแนะนำที่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานที่และวิธีการเข้ารับการดูแลต่อเนื่องนั้นมีความสำคัญสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้ถูกส่งตัวหรือโอนย้ายไปรับการรักษากับผู้ประกอบวิชาชีพด้านบริการสุขภาพอื่น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลลัพธ์ของการดูแลรักษาออกมาดีที่สุดและตอบสนองความต้องการการดูแลของผู้ป่วยทุกประการ | คำแนะนำดังกล่าวหมายรวมถึงชื่อและสถานที่ของหน่วยที่จะให้การดูแลต่อเนื่อง การกลับไปรับการติดตามตรวจรักษาจากสถานพยาบาล และข้อบ่งชี้เมื่อควรได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน | ครอบครัวของผู้ป่วยมีส่วนร่วมในกระบวนการด้วยหากสภาวะหรือความสามารถของผู้ป่วยเป็นอุปสรรคต่อความเข้าใจในคำแนะนำการนัดติดตามตรวจรักษา | กรณีที่ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในกระบวนการดูแลต่อเนื่องจะต้องให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมด้วย | องค์กรให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย และครอบครัวเมื่อมีความเหมาะสม ด้วยวิธีการที่เรียบง่ายและเข้าใจง่าย | คำแนะนำดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรหรือในรูปแบบที่ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่ายที่สุด

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.4.3.1
Ο 1. คำแนะนำการนัดติดตามตรวจรักษาอยู่ในรูปแบบและลักษณะและภาษาที่ผู้ป่วยเข้าใจง่าย
Ο 2. คำแนะนำดังกล่าวระบุถึงการกลับมารับการติดตามตรวจรักษา
Ο 3. คำแนะนำดังกล่าวระบุว่าเมื่อไรที่ควรได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน


มาตรฐาน ACC.4.3.2
เวชระเบียนของผู้ป่วยในมีต้นฉบับหรือสำเนาสรุปข้อมูลเมื่อจำหน่าย (discharge summary)

เจตนาของ ACC.4.3.2
มีการจัดทำสรุปข้อมูลการดูแลผู้ป่วยทั้งหมดเมื่อจำหน่ายผู้ป่วยจากองค์กร | ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมคนหนึ่งคนใดสามารถเป็นผู้ประมวลสรุปข้อมูลเมื่อจำหน่าย เช่น แพทย์เจ้าของไข้ แพทย์ประจำบ้าน หรือเสมียน

มีการส่งสำเนาสรุปข้อมูลเมื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ให้บริการซึ่งจะรับผิดชอบให้การดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องหรือติดตามตรวจรักษา | สำเนาฉบับหนึ่งถูกมอบให้กับผู้ป่วย เมื่อมีข้อบ่งชี้โดยนโยบายขององค์กรหรือการปฏิบัติที่กระทำโดยทั่วไปตามกฎหมายและวัฒนธรรม | ในกรณีที่ไม่มีรายละเอียดของผู้ให้บริการติดตามตรวจรักษา เช่น ผู้ป่วยที่มาจากภูมิภาคหรือประเทศอื่น สำเนาฉบับหนึ่งถูกมอบให้กับผู้ป่วย | มีการเก็บต้นฉบับหรือสำเนาของสรุปข้อมูลเมื่อจำหน่ายไว้ในเวชระเบียนผู้ป่วย

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.4.3.2
Ο 1. มีการจัดทำสรุปข้อมูลเมื่อจำหน่ายโดยบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
Ο 2. มีการมอบสำเนาสรุปข้อมูลเมื่อจำหน่ายให้ผู้ให้บริการที่ต้องรับผิดชอบดูแลรักษาต่อเนื่องหรือติดตามตรวจรักษา
Ο 3. มีการมอบสำเนาสรุปข้อมูลเมื่อจำหน่ายให้ผู้ป่วยในกรณีที่ไม่มีรายละเอียดของผู้ให้บริการที่ต้องรับผิดชอบดูแลรักษาต่อเนื่องหรือติดตามตรวจรักษา
Ο 4. นโยบายและระเบียบปฏิบัติกำหนดระยะเวลาที่ต้องสรุปข้อมูลเพื่อจำหน่ายให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์


มาตรฐาน ACC.4.4
เวชระเบียนของผู้ป่วยนอกที่ต้องการการดูแลหรือการวินิจฉัยที่ซับซ้อนแสดงประวัติการดูแลทางการแพทย์และมีให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านบริการสุขภาพเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย ℗

เจตนาของ ACC.4.4
เมื่อองค์กรให้การดูแลและรักษาผู้ป่วยนอกอย่างต่อเนื่องไประยะหนึ่ง ด้วยการวินิจฉัยหรือการดูแลที่ซับซ้อน (เช่น ผู้ป่วยที่มารับการตรวจต่อเนื่องเป็นเวลานานสำหรับปัญหาหลายปัญหา มาพบบ่อยครั้ง มาตรวจที่หลายแผนก และอื่นๆ ที่คล้ายกัน) จะมีจำนวนการวินิจฉัยโรค ยา ที่สะสมเพิ่มขึ้น รวมถึงประวัติทางคลินิกและการตรวจร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป | มีความสำคัญที่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านบริการสุขภาพในทุกลักษณะแวดล้อม (setting) ที่ให้การดูแลผู้ป่วยนอกเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลได้ | กระบวนการให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านบริการสุขภาพรวมถึง

  • ระบุประเภทของผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลและ/หรือการวินิจฉัยที่ซับซ้อน (เช่น ผู้ป่วยในคลินิคหัวใจซึ่งมีความผิดปกติที่พบร่วมมาก หรือผู้ป่วยที่มีอาการไตวายระยะสุดท้าย)
  • ระบุข้อมูลที่จำเป็นโดยแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยเหล่านั้น
  • กำหนดขั้นตอนเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลทางการแพทย์ที่จำเป็นมีอยู่ เรียกใช้ได้ง่ายและอยู่ในรูปแบบที่อ่านได้ง่าย
  • การประเมินผลของการปฏิบัติเพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลและกระบวนการตอบสนองความต้องการของแพทย์และมีการปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยของบริการผู้ป่วยนอก

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.4.4
Ο 1. องค์กรระบุประเภทของผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลและ/หรือการวินิจฉัยที่ซับซ้อนผู้ซึ่งต้องการประวัติผู้ป่วยนอก
Ο 2. ข้อมูลในประวัติผู้ป่วยนอกจัดทำโดยแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วย
Ο 3. องค์กรมีประบวนการเพื่อให้มั่นใจว่าประวัติผู้ป่วยนอกเรียกใช้ได้ง่ายและอยู่ในรูปแบบที่อ่านได้ง่าย
Ο 4. องค์กรมีกระบวนการในการประเมินผลเพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลและกระบวนการตอบสนองความต้องการของแพทย์และมีการปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยของบริการผู้ป่วยนอก


มาตรฐาน ACC.4.5
องค์กรมีกระบวนการสำหรับการจัดการและติดตามผู้ป่วยซึ่งแจ้งกับบุคลากรในองค์กรว่าไม่สมัครใจรับการรักษา

เจตนาของ ACC.4.5.1
องค์กรมีกระบวนการสำหรับการจัดการผู้ป่วยซึ่งไม่สมัครใจรับการรักษาโดยไม่ได้แจ้งกับบุคลากรในองค์กร

เจตนาของ ACC.4.5 และ ACC.4.5.1
เมื่อผู้ป่วยตัดสินใจออกจากองค์กรหลังจากการทดสอบเสร็จสมบูรณ์และได้รับคำแนะนำในการวางแผนการรักษา จะถูกระบุว่าเป็นผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอกที่ “ไม่สมัครใจรับการรักษา” (รวมถึงผู้ป่วยจากแผนกฉุกเฉิน) มีสิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์ และ/หรือไม่สมัครใจรับการรักษา | อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงเนื่องจากการรักษาที่ไม่เพียงพอซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอันตรายถาวรหรือเสียชีวิต | เมื่อผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอกไม่สมัครใจรับการรักษา โดยไม่ได้รับอนุมัติทางการแพทย์ แพทย์ผู้วางแผนการรักษาต้องอธิบายความเสี่ยงทางการแพทย์ หรืออธิบายกับผู้ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ป่วย ก่อนจำหน่ายผู้ป่วย | มีการปฏิบัติตามขั้นตอนการจำหน่ายปกติถ้าผู้ป่วยอนุญาต | ถ้าผู้ป่วยมีแพทย์ประจำครอบครัวซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่เป็นที่รู้จักขององค์กร องค์กรต้องแจ้งให้แพทย์ดังกล่าวทราบถึงการตัดสินใจของผู้ป่วย | มีการระบุเหตุผลที่ผู้ป่วยไม่สมัครใจรับการรักษา | องค์กรจำต้องเข้าใจเหตุผลที่ผู้ป่วยไม่สมัครใจรับการรักษาเพื่อที่จะสื่อสารกับผู้ป่วยได้ดีขึ้น

เมื่อผู้ป่วยไม่สมัครใจรับการรักษาโดยไม่ได้แจ้งกับบุคลากรในองค์กร หรือผู้ป่วยนอกที่ได้รับการรักษาแบบซับซ้อนหรือช่วยชีวิต เช่น การรักษาด้วยคีโมหรือรังสีวิทยา ไม่กลับมาทำการรักษา องค์กรใช้ความพยายามในการติดต่อผู้ป่วยเพื่อแจ้งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น | ถ้าผู้ป่วยมีแพทย์ประจำครอบครัวซึ่งเป็นที่รู้จักขององค์กร องค์กรจะต้องแจ้งให้แพทย์ดังกล่าวทราบเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย

กระบวนการดังกล่าวสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง | เมื่อมีรายงานกรณีโรคติดเชื้อและให้ข้อมูลผู้ป่วยที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือต่อผู้อื่นต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติเมื่อจำเป็น

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.4.5
Ο 1. องค์กรมีกระบวนการสำหรับการจัดการกับผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกซึ่งแจ้งกับบุคลากรในองค์กรว่าไม่สมัครใจรับการรักษา
Ο 2. กระบวนการรวมถึงการแจ้งผู้ป่วยถึงความเสี่ยงทางการแพทย์เนื่องจากการรักษาที่ไม่เพียงพอ
Ο 3. การจำหน่ายผู้ป่วยปฏิบัติตามขั้นตอนการจำหน่ายขององค์กร
Ο 4. ถ้าผู้ป่วยมีแพทย์ประจำครอบครัวซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่เป็นที่รู้จักขององค์กร องค์กรจะต้องแจ้งให้แพทย์ดังกล่าวทราบ
Ο 5. องค์กรมีกระบวนการระบุเหตุผลที่ผู้ป่วยไม่สมัครใจรับการรักษา
Ο 6. กระบวนการดังกล่าวสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความจำเป็นในการรายงานกรณีโรคติดเชื้อและกรณีผู้ป่วยที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือต่อผู้อื่น

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.4.5.1
Ο 1. องค์กรมีกระบวนการสำหรับการจัดการผู้ป่วยซึ่งไม่สมัครใจรับการรักษาโดยไม่ได้แจ้งกับบุคลากรในองค์กร
Ο 2. มีกระบวนการสำหรับการจัดการผู้ป่วยนอกที่ได้รับการรักษาแบบซับซ้อน ไม่กลับมาทำการรักษา
Ο 3. ถ้าผู้ป่วยมีแพทย์ประจำครอบครัวซึ่งเป็นที่รู้จักขององค์กรแต่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ องค์กรจะต้องแจ้งให้แพทย์ดังกล่าวทราบ
Ο 4. กระบวนการดังกล่าวสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความจำเป็นในการรายงานกรณีโรคติดเชื้อและกรณีผู้ป่วยที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือต่อผู้อื่น


ACC – การคัดกรองผู้ป่วยสำหรับการรับไว้ในองค์กร | การรับไว้ในองค์กร | การดูแลอย่างต่อเนื่อง | การจำหน่าย การส่งต่อ และการนัดตรวจติดตาม | การโอนย้ายผู้ป่วย | การเคลื่อนย้าย