fbpx
WeLoveMed.com

ACC การรับไว้ในองค์กร

การรับไว้ในองค์กร (Admission to the Hospital)

มาตรฐาน ACC.2
องค์กรมีกระบวนการสำหรับการรับไว้เป็นผู้ป่วยในและการลงทะเบียนผู้ป่วยนอก ℗

เจตนาของ ACC.2
มีนโยบายและระเบียบปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้กระบวนการรับผู้ป่วยในไว้ดูแล และการลงทะเบียนผู้ป่วยนอกเพื่อให้บริการ เป็นมาตรฐานเดียวกัน | บุคลากรที่รับผิดชอบต่อกระบวนการดังกล่าวมีความคุ้นเคยและใช้ระเบียบปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน

นโยบายและระเบียบปฏิบัติ ระบุถึง
– การลงทะเบียนเพื่อให้บริการแบบผู้ป่วยนอก หรือการรับไว้ให้บริการในฐานะผู้ป่วยใน
– การรับผู้ป่วยจากหน่วยบริการฉุกเฉินเข้าหอผู้ป่วยโดยตรง และ
– กระบวนการรับผู้ป่วยไว้สังเกตอาการ

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.2
Ο 1. กระบวนการลงทะเบียนผู้ป่วยนอกเป็นมาตรฐานเดียวกัน
Ο 2. กระบวนการรับผู้ป่วยในเป็นมาตรฐานเดียวกัน
Ο 3. มีกระบวนการรับผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าหน่วยดูแลผู้ป่วยใน
Ο 4. มีกระบวนการรับผู้ป่วยไว้สังเกตอาการ
Ο 5. บุคลากรมีความคุ้นเคยและปฏิบัติตามนโยบายและระเบียบปฏิบัติการรับผู้ป่วยในและลงทะเบียนผู้ป่วยนอก


มาตรฐาน ACC.2.1
มีการจัดลำดับความต้องการของผู้ป่วยสำหรับบริการป้องกัน การดูแลเพื่อบรรเทาอาการ การรักษา และการฟื้นฟูสภาพ ตามสภาวะของผู้ป่วยเมื่อแรกรับเป็นผู้ป่วยใน

เจตนาของ ACC.2.1
เมื่อผู้ป่วยได้รับการพิจารณารับไว้เป็นผู้ป่วยในขององค์กร การประเมินคัดกรองจะช่วยให้บุคลากรบ่งชี้และจัดลำดับความสำคัญของบริการป้องกัน การรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการดูแลประคับประคอง ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับ และเลือกบริการหรือหน่วยดูแลที่เหมาะสมที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการที่เร่งด่วนหรือสำคัญที่สุดของผู้ป่วย

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.2.1
Ο 1. การประเมินคัดกรองช่วยให้บุคลากรระบุความต้องการที่จำเป็นของผู้ป่วย
Ο 2. มีการเลือกบริการหรือหน่วยดูแลผู้ป่วยเพื่อตอบสนองความต้องการที่จำเป็นเหล่านี้ตามผลการประเมินคัดกรอง
Ο 3. ความต้องการที่จำเป็นของผู้ป่วยเกี่ยวกับบริการป้องกัน การรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการดูแลประคับประคอง ได้รับการจัดลำดับความสำคัญ


มาตรฐาน ACC.2.2
เมื่อรับเป็นผู้ป่วยใน ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลที่จะเกิดขึ้น ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการดูแลนั้น และประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย

เจตนาของ ACC.2.2
ระหว่างกระบวนการรับเป็นผู้ป่วยใน ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจอย่างมีความรู้ | มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลที่จะเกิดขึ้น ผลลัพธ์ที่คาดหวัง และประมาณค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยหรือครอบครัวต้องรับผิดชอบสำหรับการดูแลที่กองทุนประกันสุขภาพสาธารณะหรือเอกชนไม่จ่ายให้ | หากผู้ป่วยมีข้อจำกัดเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแล องค์กรต้องหาวิธีการแก้ไขข้อจำกัดเหล่านั้น | ข้อมูลที่ให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวอาจเป็นเอกสาร หรือแจ้งด้วยวาจาพร้อมทั้งบันทึกไว้ในเวชระเบียน

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.2.2
1. ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับข้อมูลเมื่อแรกรับเป็นผู้ป่วยใน
2. ข้อมูลดังกล่าวรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลที่จะเกิดขึ้น
3. ข้อมูลดังกล่าวรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์การดูแลที่คาดหวัง
4. ข้อมูลดังกล่าวรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับประมาณการค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยหรือครอบครัวต้องรับผิดชอบ


มาตรฐาน ACC.2.2.1 (ใหม่)
องค์กรมีกระบวนการในการจัดการการไหลของผู้ป่วย (patient flow) ทั่วทั้งองค์กร

เจตนาของ ACC.2.2.1
ความหนาแน่นของและอัตราการเข้าพักในแผนกฉุกเฉิน (ED) และอัตราการเข้าพักในองค์กรที่สูงนำไปสู่การนำผู้ป่วยเข้าพักในแผนกฉุกเฉินหรือมีสถานที่พักผู้ป่วยในชั่วคราว | การจัดการการไหลของผู้ป่วยตลอดการดูแลคือสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้แออัด ซึ่งทำให้ไม่สามารถดูแลได้ทันเวลา และส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยในที่สุด | การจัดการที่มีประสิทธิภาพของกระบวนการที่เป็นระบบซึ่งสนับสนุนการไหลของผู้ป่วย (เช่น การรับเป็นผู้ป่วยใน การประเมิน และการรักษา การโอนย้าย และจำหน่ายผู้ป่วย) สามารถลดความล่าช้าในการส่งมอบความดูแล | องค์ประกอบของกระบวนการการไหลของผู้ป่วยระบุหัวข้อต่อไปนี้:

a) เตียงผู้ป่วยในที่มีอยู่
b) การวางแผนอาคารสถานที่ สำหรับการจัดสรรพื้นที่ ระบบสาธารณูปโภค เครื่องมืออุปกรณ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ และวัสดุทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนสถานที่รับผู้ป่วยชั่วคราว
c) การวางแผนกำลังคนเพื่อสนับสนุนพื้นที่รับผู้ป่วยชั่วคราวที่เพิ่มขึ้น และ/หรือ การเข้าพักในแผนกฉุกเฉิน
d) การไหลของผู้ป่วยในพื้นที่ที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาและบริการ (เช่น แผนกผู้ป่วยใน ห้องปฏิบัติการ ห้องผ่าตัด การวัดและส่งข้อมูลทางไกล (telemetry) รังสีวิทยา และหน่วยดูแลหลังระงับความรู้สึก)
e) ประสิทธิผลของการบริการที่ไม่ใช่คลินิกซึ่งสนับสนุนการดูแลและรักษาผู้ป่วย (เช่น การทำความสะอาด และการเคลื่อนย้าย)
f) การสำรองการดูแลในระดับเดียวกันตั้งแต่การรับผู้ป่วยจนถึงหน่วยผู้ป่วยใน
g) การเข้าถึงงานสนับสนุนบริการ (เช่น การสนับสนุนงานด้านสังคม ศาสนา หรือจิตวิญญาณ และที่คล้ายกัน)

การติดตามและปรับปรุงกระบวนการเป็นกลยุทธ์ที่มีประโยชน์เพื่อลดปัญหาการไหลของผู้ป่วย | บุคลากรจากทั่วทั้งองค์กร – แผนกผู้ป่วยใน แผนกฉุกเฉิน บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล การบริหารจัดการ การจัดการสิ่งแวดล้อม การบริหารความเสี่ยง – สามารถให้ผลงานที่สำคัญในการทำความเข้าใจและแก้ปัญหาการไหลของผู้ป่วย | มาตรการและเป้าหมายช่วยระบุผลกระทบระหว่างแผนก เปิดเผยวงจรและแนวโน้มในช่วงเวลา และสนับสนุนความรับผิดชอบในทุกระดับขององค์กร

ผู้ป่วยที่มาถึงองค์กรในเผนกฉุกเฉินเพื่อการดูแลมีความเสี่ยงในการเข้าพักที่สำคัญ | การเข้าพักที่แผนกฉุกเฉินใช้เฉพาะการแก้ปัญหาชั่วคราวเมื่อมีความแออัดในองค์กร | การวางแผนขององค์กรควรระบุกรอบเวลาโดยผู้ป่วยที่เข้าพักจะมีการโอนย้ายจากแผนกฉุกเฉินไปยังหน่วยผู้ป่วยในที่เป็นมาตรฐานหรือชั่วคราว | ความคาดหวังที่นี่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางการให้บริการขององค์กรเพื่อ ความปลอดภัยในสถานที่ การให้คำแนะนำและฝึกอบรมบุคลากร และ การประเมิน การประเมินซ้ำ และการดูแล (ภายในศักยภาพ) ของผู้ป่วยที่จะเข้าพัก

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.2.2.1
Ο 1. องค์กรจัดทำกระบวนการสนับสนุนการไหลของผู้ป่วยทั่วทั้งองค์กรอย่างน้อยในข้อ a) ถึง g) ในหัวข้อเจตนา และนำไปปฏิบัติ
Ο 2. องค์กรวางแผนและมีการดูแลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและเข้าพักในแผนกฉุกเฉิน รวมทั้งการระบุเวลาในการเข้าพัก
Ο 3. องค์กรวางแผนและมีการดูแลผู้ป่วยเมื่อมีเตียงไม่พอ ในที่ที่ต้องการบริการ หรือหน่วยงาน หรือที่อื่นๆ ในอาคารสถานที่
Ο 4. บุคลากรผู้บริหารกระบวนการไหลของผู้ป่วย ตรวจสอบประสิทธิภาพในการระบุและการนำการปรับปรุงกระบวนการไปใช้


มาตรฐาน ACC.2.3
การรับไว้รักษาไปยังหน่วยดูแลวิกฤตหรือหน่วยบริการเฉพาะทาง เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ℗

มาตรฐาน ACC.2.3.1
การจำหน่ายผู้ป่วยจากหน่วยดูแลวิกฤตหรือหน่วยบริการเฉพาะทาง เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ℗

เจตนาของ ACC.2.3 และ ACC.2.3.1
หน่วยงานหรือบริการที่ให้การดูแลผู้ป่วยวิกฤต (เช่น หน่วยดูแลผู้ป่วยวิกฤตหลังผ่าตัด) หรือให้บริการเฉพาะทาง (เช่น หน่วยดูแลผู้ป่วยแผลไฟไหม้นํ้าร้อนลวก หรือหน่วยปลูกถ่ายอวัยวะ) มักจะมีค่าใช้จ่ายสูง มีพื้นที่และกำลังคนจำกัด | แต่ละองค์กรต้องจัดทำเกณฑ์พิจารณาผู้ป่วยซึ่งต้องการระดับของบริการในหน่วยงานดังกล่าว

การรับไว้รักษาในหน่วยงานเฉพาะทางที่ใช้ทรัพยากรที่มีราคาแพง องค์กรอาจจำกัดการรับไว้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการกลับมา และไม่รับผู้ป่วยที่อยู่ในขั้นร้ายแรง | เพื่อให้มั่นใจในความสม่ำเสมอของการปฏิบัติ ควรใช้ เกณฑ์ในการจัดลำดับความสำคัญและวินิจฉัย และ/หรือวัตถุประสงค์อื่น รวมทั้งเกณฑ์เชิงสรีรวิทยา (physiologic-based) เมื่อเป็นไปได้และมีความเหมาะสม | บุคลากรที่เหมาะสมจากหน่วยฉุกเฉิน หน่วยดูแลผู้ป่วยวิกฤต หรือหน่วยบริการเฉพาะด้านมีส่วนร่วมในการกำหนดเกณฑ์ | มีการใช้เกณฑ์ดังกล่าวในการพิจารณาตัดสินใจรับผู้ป่วยเข้ารักษาในหน่วยงานโดยตรง เช่น การรับผู้ป่วยจากหน่วยบริการฉุกเฉินโดยตรง | มีการใช้เกณฑ์ดังกล่าวในการพิจารณาตัดสินใจรับผู้ป่วยจากหน่วยงานอื่นในองค์กรหรือจากองค์กรอื่น (เช่น เมื่อผู้ป่วยถูกโอนย้ายมาจากอีกองค์กรหนึ่ง)

ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในหน่วยงานเฉพาะทางต้องการการประเมินซ้ำและประเมินผลใหม่เมื่อสภาวะผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไป เช่น การดูแลเฉพาะทางอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป | ตัวอย่างเช่น เมื่อสถานะทางสรีระมีความคงตัว และการติดตามและรักษาแบบวิกฤตไม่จำเป็นอีกต่อไป หรือเมื่อสถานะของผู้ป่วยเสื่อมโทรมถึงจุดที่การดูแลและบริการเฉพาะทางทำไม่ได้อีกต่อไป ผู้ป่วยอาจถูกจำหน่ายจากหน่วยงานเฉพาะทางหรือย้ายไปยังหน่วยงานที่มีระดับการดูแลต่ำลง (เช่น หน่วยแพทย์/ผ่าตัด หน่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือหน่วยดูแลประคับประคอง) | เกณฑ์ที่ใช้ในการโอนย้ายจากหน่วยงานเฉพาะทางไปยังหน่วยงานที่มีระดับการดูแลต่ำลง ควรใช้เกณฑ์ที่ใช้รับผู้ป่วยไปยังระดับการดูแลต่อไป | ตัวอย่างเช่น เมื่อสภาวะของผู้ป่วยเสื่อมโทรมซึ่งการดูแลวิกฤตไม่ได้ช่วยอีกต่อไป การรับผู้ป่วยในหน่วยดูแลระยะสุดท้าย หรือหน่วยการดูแลแบบประคับประคอง ต้องทำตามเกณฑ์สำหรับการรับเข้าบริการ

เมื่อองค์กรทำการวิจัย หรือจัดให้มีบริการหรือโปรแกรมดูแลผู้ป่วยพิเศษเฉพาะด้าน การรับหรือการโอนย้ายผู้ป่วยเข้าในโปรแกรมดังกล่าวทำโดยใช้เกณฑ์หรือระเบียบวิธี (protocol) ที่กำหนดไว้ | บุคลากรที่เหมาะสมจากโปรแกรมการวิจัยหรือโปรแกรมอื่นมีส่วนร่วมในการจัดทำเกณฑ์หรือระเบียบวิธี | มีการบันทึกการรับเข้าร่วมในโปรแกรมในเวชระเบียนผู้ป่วย รวมถึงสภาวะของผู้ป่วยตามเกณฑ์หรือระเบียบวิธีการรับผู้ป่วย (ดูที่ ACC.3)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.2.3
Ο 1. องค์กรกำหนดเกณฑ์การรับเข้า และ/หรือ โอนย้ายผู้ป่วยสำหรับหน่วยดูแลผู้ป่วยวิกฤต บริการหรือหน่วยงานพิเศษเฉพาะด้าน รวมถึงโปรแกรมวิจัยและโปรแกรมอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพิเศษเฉพาะของผู้ป่วย
Ο 2. เกณฑ์ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดลำดับความสำคัญและวินิจฉัย และ/หรือวัตถุประสงค์อื่น รวมทั้งเกณฑ์เชิงสรีรวิทยา
Ο 3. บุคลากรจากหน่วยดูแลวิกฤต/หน่วยบริการเฉพาะทาง มีส่วนร่วมในการกำหนดเกณฑ์
Ο 4. บุคลากรได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้เกณฑ์
Ο 5. บันทึกของผู้ป่วยที่รับเข้าหน่วยดูแลผู้ป่วยวิกฤต/บริการพิเศษเฉพาะด้าน มีหลักฐานว่าเป็นไปตามเกณฑ์สำหรับบริการดังกล่าว

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ ACC.2.3.1
Ο 1. องค์กรกำหนดเกณฑ์การจำหน่าย และ/หรือ โอนย้ายผู้ป่วยสำหรับหน่วยดูแลผู้ป่วยวิกฤต บริการหรือหน่วยงานพิเศษเฉพาะด้าน ไปยังระดับการดูแลอื่น รวมถึงโปรแกรมวิจัยและโปรแกรมอื่นๆ
Ο 2. เกณฑ์ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการจำหน่ายหรือโอนย้ายผู้ป่วยควรรวมเกณฑ์ที่ใช้ในการรับผู้ป่วยไปยังระดับการดูแลต่อไป
Ο 3. บุคลากรจากหน่วยดูแลวิกฤตหรือหน่วยบริการเฉพาะทาง มีส่วนร่วมในการกำหนดเกณฑ์
Ο 4. บุคลากรได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้เกณฑ์
Ο 5. บันทึกของผู้ป่วยที่ได้รับการโอนย้ายหรือจำหน่ายออกจากหน่วยดูแลผู้ป่วยวิกฤตหรือบริการพิเศษเฉพาะด้าน มีหลักฐานว่าผู้ป่วยไม่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์สำหรับบริการดังกล่าว


ACC – การคัดกรองผู้ป่วยสำหรับการรับไว้ในองค์กร | การรับไว้ในองค์กร | การดูแลอย่างต่อเนื่อง | การจำหน่าย การส่งต่อ และการนัดตรวจติดตาม | การโอนย้ายผู้ป่วย | การเคลื่อนย้าย