fbpx
WeLoveMed.com

การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (PCI)

JCI

การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ Prevention and Control of Infections (PCI)

มาตรฐาน PCI.1
มีผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อทั้งหมดอย่างน้อยหนึ่งคน บุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับปฏิบัติการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ด้วยการศึกษา การฝึกอบรม ประสบการณ์ หรือประกาศนียบัตร

เจตนาของ PCI.1
เป้าหมายของการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อขององค์กรคือ การระบุและเพื่อลดความเสี่ยงของการได้มาและส่งผ่านการติดเชื้อระหว่างผู้ป่วย บุคลากร ผู้ประกอบวิชาชีพด้านบริการสุขภาพ บุคลากรที่ทำงานเป็นสัญญาจ้าง อาสาสมัคร นักเรียน และผู้มาเยือน

ความเสี่ยงของการติดเชื้อและกิจกรรมในโปรแกรมอาจจะแตกต่างกันในแต่ละองค์กร ขึ้นอยู่กับ กิจกรรมและการบริการของคลินิก ประชากรผู้ป่วยที่ได้รับการบริการ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ จำนวนผู้ป่วย และจำนวนของบุคลากร | ดังนั้น โปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อมีการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับขนาดขององค์กร ความซับซ้อนของกิจกรรม ระดับของความเสี่ยง และขอบเขตของโปรแกรม | มีบุคคลหนึ่งคนหรือมากกว่า ทำงานเต็มเวลาหรือบางเวลา ทำหน้าที่กำกับดูแลโปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อตามหน้าที่รับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย หรือคำบรรยายลักษณะงาน (ดูที่ SQE.1.1) | คุณสมบัติของผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลขึ้นกับกิจกรรมที่จะต้องปฏิบัติและอาจพิจารณาจาก

  • การศึกษา
  • การฝึกอบรม
  • ประสบการณ์ และ
  • ประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (ดูที่ GLD.9)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.1
Ο 1. มีบุคคลหนึ่งคนหรือมากกว่าทำหน้าที่กำกับดูแลโปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ
Ο 2. ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลมีคุณสมบัติเหมาะสม สำหรับขนาดขององค์กร ระดับของความเสี่ยง ขอบเขตและความซับซ้อนของโปรแกรม
Ο 3. ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลตามที่ได้รับมอบหมายหรือตามที่ระบุไว้ในคำอธิบายลักษณะงาน


มาตรฐาน PCI.2
มีการกำหนดกลไกประสานความร่วมมือสำหรับกิจกรรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อทั้งหมด เหมาะสมกับขนาดและความซับซ้อนขององค์กร โดยแพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เหมาะสมอื่นๆ มีส่วนร่วม

เจตนาของ PCI.2
กิจกรรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อเกี่ยวข้องกับทุกส่วนขององค์กรและเกี่ยวข้องกับบุคลากรในแผนกและงานบริการต่างๆ จำนวนมาก เช่น แผนกทางคลินิก เคหะบริการ บริการอาหาร แม่บ้าน ห้องปฏิบัติการ เภสัชกรรม หน่วยทำให้ปราศจากเชื้อ | มีการกำหนดกลไกเพื่อประสานความร่วมมือสำหรับโปรแกรมโดยรวม | กลไกดังกล่าวอาจจะเป็นกลุ่มทำงานเล็กๆ คณะกรรมการประสานงาน คณะทำงานเฉพาะกิจ หรือกลไกอื่นๆ | หน้าที่รับผิดชอบของกลไกดังกล่าว เช่น การกำหนดเกณฑ์ตัดสินการติดเชื้อเนื่องจากบริการสุขภาพ กำหนดวิธีการเก็บข้อมูล (เฝ้าระวัง) ออกแบบกลยุทธ์เพื่อจัดการกับความเสี่ยงในการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ และกระบวนการรายงาน | การประสานความร่วมมือต้องมีการสื่อสารกับทุกส่วนขององค์กรเพื่อให้มั่นใจในความต่อเนื่องและบทบาทเชิงรุกของโปรแกรม

ไม่ว่าองค์กรจะเลือกกลไกประสานความร่วมมือสำหรับโปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้ออย่างไร จะมีตัวแทนของแพทย์และพยาบาลเข้าร่วมในกิจกรรมกับผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมการติดเชื้อ (infection control professionals) เสมอ | บุคลากรอื่นๆ อาจถูกเลือกเข้ามาโดยคำนึงถึงขนาดขององค์กร ความซับซ้อนของบริการ (เช่น นักระบาดวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านเก็บข้อมูล นักสถิติ หัวหน้าหน่วยจ่ายกลาง นักจุลชีววิทยา เภสัชกร แม่บ้าน บริการสิ่งแวดล้อมหรืออาคารสถานที่ หัวหน้าห้องผ่าตัด)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.2
Ο 1. มีการกำหนดกลไกประสานความร่วมมือสำหรับโปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ
Ο 2. การประสานความร่วมมือของกิจกรรมควบคุมการติดเชื้อมี แพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นเข้าร่วมตามขนาดและความซับซ้อนขององค์กร
Ο 3. การประสานความร่วมมือของกิจกรรมควบคุมการติดเชื้อมีผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมการติดเชื้อร่วม


มาตรฐาน PCI.3
โปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้ออยู่บนพื้นฐานความรู้ทางวิชาการที่ทันสมัย แนวทางปฏิบัติซึ่งเป็นที่ยอมรับ กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานสำหรับสุขาภิบาลและความสะอาด

เจตนาของ PCI.3
สารสนเทศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ | จำเป็นต้องใช้สารสนเทศทางวิชาการที่เป็นปัจจุบันเพื่อทำความเข้าใจและนำกิจกรรมเฝ้าระวังและควบคุมไปปฏิบัติอย่างได้ผล สารสนเทศนี้อาจจะมาจากแหล่งในประเทศหรือแหล่งสากล เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US CDC) องค์การอนามัยโลก (WHO) หน่วยงานคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในระดับภูมิภาคและองค์กรอื่น ๆ ที่คล้ายกัน สามารถเป็นแหล่งสำคัญของการปฏิบัติการและแนวทาง | นอกจากนี้สิ่งพิมพ์และองค์กรวิชาชีพระบุมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความสะอาดในองค์กร | แนวทางปฏิบัติให้สารสนเทศเกี่ยวกับปฏิบัติการป้องกัน รวมทั้งการติดเชื้อที่สัมพันธ์กับบริการทางคลินิกและบริการสนับสนุน | กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกำหนดองค์ประกอบของโปรแกรมพื้นฐาน การตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อ และรายงานที่ต้องการ

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.3
Ο 1. โปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้ออยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการที่ทันสมัย แนวทางปฏิบัติซึ่งเป็นที่ยอมรับ และกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
Ο 2. โปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้ออยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานเกี่ยวกับสุขาภิบาลและการทำความสะอาดจากหน่วยงานระดับชาติหรือหน่วยงานท้องถิ่น
Ο 3. มีการรายงานผลของโปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อไปยังหน่วยงานสาธารณสุขตามที่ต้องการ
Ο 4. องค์กรมีการดำเนินการที่เหมาะสมสำหรับรายงานผลจากหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง


มาตรฐาน PCI.4
ผู้นำองค์กรจัดให้มีทรัพยากรเพียงพอเพื่อสนับสนุนโปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ

เจตนาของ PCI.4
โปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อต้องการบุคลากรที่เพียงพอเพื่อตอบสนองเป้าหมายของโปรแกรมและความต้องการขององค์กร | จำนวนบุคลากรกำหนดโดย ขนาดขององค์กร ความซับซ้อนของกิจกรรม ระดับของความเสี่ยง และขอบเขตของโปรแกรม | ระดับบุคลากรได้รับความเห็นชอบจากผู้นำขององค์กร | นอกจากนั้น โปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อยังต้องการทรัพยากรเพื่อให้การศึกษาแก่บุคลากรทุกคน วัสดุ เช่น แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ | ผู้นำขององค์กรสร้างความมั่นใจว่าโปรแกรมมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการดำเนินงานของโปรแกรมอย่างมีประสิทธิผล

การจัดการสารสนเทศเป็นทรัพยากรสำคัญที่สนับสนุนการติดตามความเสี่ยง อัตราและแนวโน้มของการติดเชื้อเนื่องจากบริการสุขภาพ (HAI) | การจัดการสารสนเทศสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูล การแปรผล และการนำเสนอผล | นอกจากนั้น ข้อมูลและสารสนเทศของโปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อยังได้รับการจัดการพร้อมกับข้อมูลและสารสนเทศของโปรแกรมบริหารและพัฒนาคุณภาพขององค์กร

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.4
Ο 1. โปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อมีบุคลากรเพียงพอ ขึ้นอยู่กับขนาดขององค์กร ความซับซ้อนของกิจกรรม ระดับของความเสี่ยง และขอบเขตของโปรแกรม
Ο 2. ผู้นำองค์กรจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอสำหรับโปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ
Ο 3. โปรแกรมการจัดการสารสนเทศสนับสนุนโปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ


มาตรฐาน PCI.5
องค์กรออกแบบโปรแกรมที่ครอบคลุม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเนื่องจากบริการสุขภาพ (HAI) ในผู้ป่วยและบุคลากร และนำไปปฏิบัติ

เจตนาของ PCI.5
การที่โปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อจะมีประสิทธิผล โปรแกรมจะต้องมีความครอบคลุมสมบูรณ์ ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยและสุขภาพของบุคลากร | โปรแกรมถูกชี้นำด้วยแผนซึ่งระบุประเด็นการติดเชื้อที่มีความสำคัญทางระบาดวิทยาต่อองค์กร | โปรแกรมและแผนมีความเหมาะสมกับขนาดขององค์กร ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ บริการ และผู้ป่วย | โปรแกรมดังกล่าวหมายรวมถึงระบบที่จะบ่งชี้การติดเชื้อและสืบสวนการระบาดของโรคติดเชื้อ และกำกับดูแลสำหรับการปรับปรุงการใช้ยาปฏิชีวนะ (antimicrobials) อย่างปลอดภัย | การประเมินความเสี่ยงเป็นระยะและการกำหนดเป้าหมายในการลดความเสี่ยงชี้นำการทำงานของโปรแกรม (ดูที่ AOP.5.3)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.5
Ο 1. มีโปรแกรมและแผนซึ่งครอบคลุมเพื่อลดการติดเชื้อเนื่องจากบริการสุขภาพ (HAI) ในผู้ป่วย
Ο 2. มีโปรแกรมและแผนซึ่งครอบคลุมเพื่อลดการติดเชื้อเนื่องจากบริการสุขภาพ (HAI) ในบุคลากรสุขภาพ (ดูที่ SQE.8.2)
Ο 3. โปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อรวมถึงกิจกรรมเฝ้าระวังอัตราการติดเชื้อที่เกิดเป็นประจำ (endemic) อย่างเป็นโปรแกรมและในเชิงรุก
Ο 4. โปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อรวมถึงโปรแกรมสืบสวนเมื่อมีการระบาดของโรคติดเชื้อ
Ο 5. มีการกำหนดเป้าหมายของการลดความเสี่ยง วัตถุประสงค์ที่วัดได้ และมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ


มาตรฐาน PCI.5.1
โปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อครอบคลุมทุกพื้นที่ใช้สอยสำหรับผู้ป่วย บุคลากร และผู้มาเยือน

เจตนาของ PCI.5.1
การติดเชื้อสามารถเข้าสู่องค์กรผ่านผู้ป่วย ครอบครัว บุคลากร อาสาสมัคร ผู้มาเยือน และบุคคลอื่นๆ เช่น ผู้แทนการขาย | ดังนั้น ทุกพื้นที่ในองค์กรซึ่งบุคคลเหล่านี้เข้าไปใช้จะต้องรวมอยู่ในโปรแกรมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการติดเชื้อ

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.5.1
Ο 1. โปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อครอบคลุมทุกพื้นที่ขององค์กรที่ใช้สำหรับดูแลผู้ป่วย
Ο 2. โปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อครอบคลุมทุกพื้นที่ขององค์กรที่ใช้โดยบุคลากร
Ο 3. โปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อครอบคลุมทุกพื้นที่ขององค์กรที่ใช้โดยผู้มาเยือน


มาตรฐาน PCI.6
องค์กรกำหนดจุดเน้นของโปรแกรมป้องกันและลดการติดเชื้อเนื่องจากบริการสุขภาพ (HAI) โดยอิงความเสี่ยง (risk-based approach) ℗

มาตรฐาน PCI.6.1
องค์กรติดตามความเสี่ยง อัตราและแนวโน้มของการติดเชื้อเนื่องจากบริการสุขภาพ (HAI) เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อเหล่านั้น

เจตนาของ PCI.6 และ PCI.6.1
แต่ละองค์กรต้องกำหนดการติดเชื้อที่มีความสำคัญทางระบาดวิทยา ตำแหน่งที่ติดเชื้อ อุปกรณ์หัตถการ และการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นจุดเน้นของความพยายามในการป้องกันและลดความเสี่ยงและอุบัติการณ์ของการติดเชื้อเนื่องจากบริการสุขภาพ (HAI) | วิธีการที่อิงความเสี่ยง (risk-based approach) ช่วยให้องค์กรบ่งชี้การปฏิบัติและการติดเชื้อที่ควรเป็นจุดมุ่งเน้นของโปรแกรม | วิธีการที่อิงความเสี่ยงใช้การเฝ้าระวังเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งจะชี้นำการประเมินความเสี่ยง

องค์กรเก็บและประเมินข้อมูลการติดเชื้อและตำแหน่งการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้:

a) ทางเดินหายใจ เช่น หัตถการและเครื่องมือที่เกี่ยวกับการใส่ท่อช่วยหายใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจ การเจาะคอ และอื่นๆ
b) ทางเดินปัสสาวะ เช่น การทำหัตถการที่มีการใส่เครื่องมือหรืออุปกรณ์เข้าสู่ร่างกายและเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการใส่สายสวนปัสสาวะ ระบบระบายปัสสาวะ การดูแล และอื่นๆ
c) อุปกรณ์ที่สอดใส่เข้าหลอดเลือด เช่น การสอดใส่และการดูแลสายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง สายให้สารนํ้าทางหลอดเลือดดำส่วนปลาย และอื่นๆ
d) ตำแหน่งที่ผ่าตัด เช่น การดูแลแผล ประเภทของผ้าปิดแผล วิธีการปราศจากเชื้อที่เกี่ยวข้อง
e) โรคและเชื้อโรคที่มีความสำคัญทางระบาดวิทยา เช่น เชื้อโรคที่ดื้อยาหลายตัว การติดเชื้อที่รุนแรง
f) โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ และโรคติดเชื้ออุบัติซํ้าจากชุมชน

นอกจากนี้ การนำข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการติดเชื้อมาปฏิบัติ เช่น กลยุทธ์การใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกโปรแกรม การดูแลยาปฏิชีวนะ โปรแกรมเพื่อติดเชื้อเนื่องจากบริการในชุมชนและบริการสุขภาพ (CAI และ HAI) และความคิดริเริ่มที่จะลดการใช้อุปกรณ์การรุกล้ำร่างกาย (invasive device) ที่ไม่จำเป็นสามารถลดอัตราการติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ (ดูที่ GLD.11.2)

กระบวนการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อถูกออกแบบมาเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ และบุคคลอื่นๆ | เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ องค์กรจะต้องระบุและติดตามความเสี่ยง อัตราและแนวโน้มของการติดเชื้อเนื่องจากบริการสุขภาพ (HAI) | องค์กรจะใช้ข้อมูลการวัดในการปรับปรุงและกิจกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ และลดอัตราการติดเชื้อบริการสุขภาพ (HAI) ให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด | องค์กรสามารถใช้ข้อมูลการวัดที่ดีที่สุดและข้อมูลโดยการทำความเข้าใจอัตราและแนวโน้มในโรงพยาบาลอื่นที่คล้ายคลึงกัน และให้ข้อมูลไปยังฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ (ดูที่ QPS.4, ME 4 และ GLD.5)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.6
Ο 1. องค์กรกำหนดจุดเน้นของโปรแกรมผ่านการเก็บข้อมูลตามข้อ a) ถึง f) ในหัวข้อเจตนา
Ο 2. มีการประเมิน/วิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมได้จากข้อ a) ถึง f) เพื่อระบุลำดับความสำคัญในการลดอัตราการติดเชื้อ
Ο 3. มีการนำกลยุทธ์การควบคุมการติดเชื้อไปปฎิบัติเพื่อลดอัตราการติดเชื้อสำหรับการระบุลำดับความสำคัญ

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.6.1
Ο 1. มีการติดตามความเสี่ยง อัตราและแนวโน้มของการติดเชื้อเนื่องจากบริการสุขภาพ (HAI)
Ο 2. มีการออกแบบกระบวนการใหม่ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง อัตราและแนวโน้มของข้อมูลและสารสนเทศ
Ο 3. องค์กรประเมินความเสี่ยงการควบคุมการติดเชื้ออย่างน้อยปีละครั้ง และดำเนินการที่จะมุ่งเน้น หรือให้ความสนใจอีกครั้งในโปรแกรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ


มาตรฐาน PCI.7
องค์กรระบุหัตถการและกระบวนการที่สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และนำกลยุทธ์มาปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

เจตนาของ PCI.7
องค์กรประเมินและดูแลผู้ป่วยโดยใช้กระบวนการที่เรียบง่ายและซับซ้อนมากมาย แต่ละกระบวนการมีความสัมพันธ์กับระดับความเสี่ยงของการติดเชื้อต่อผู้ป่วยและบุคลากร | จึงมีความสำคัญที่องค์กรจะวัดและทบทวนกระบวนการเหล่านี้ และดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามความเหมาะสมด้วยการนำนโยบาย ระเบียบปฏิบัติ การศึกษา และกิจกรรมอื่นๆ ที่จำเป็น ไปสู่การปฏิบัติ (ดูที่ ACC.6)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.7
Ο 1. องค์กรระบุกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ (ดูที่ MMU.5, ME 1)
Ο 2. องค์กรนำกลยุทธ์ การศึกษา และกิจกรรมอื่นๆ ที่จำเป็น ที่จะลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระบวนเหล่านั้นไปสู่การปฏิบัติ
Ο 3. องค์กรระบุว่าความเสี่ยงใดที่ต้องการนโยบายและระเบียบปฏิบัติ การให้ความรู้แก่บุคลากร การเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติ และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ


มาตรฐาน PCI.7.1
องค์กรลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโดยสร้างความมั่นใจในการทำให้เทคโนโลยีทางการแพทย์สะอาดและปราศจากเชื้ออย่างเพียงพอ การบริหารจัดการหน่วยซักฟอกและบริการผ้าที่เหมาะสม

เจตนาของ PCI.7.1
ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจะลดลงด้วยกระบวนการทำความสะอาด ทำลายเชื้อ และทำให้ปราศจากเชื้อที่ถูกต้อง เช่น การทำความสะอาดและทำลายเชื้อกล้องส่องภายในท่อต่างๆ การทำให้ปราศเชื้อในอุปกรณ์ผ่าตัดและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ใช้ดูแลผู้ป่วยอื่นๆ ทั้งที่ผ่านเข้าในร่างกายและไม่ผ่านเข้าร่างกาย | การทำความสะอาด ทำลายเชื้อ และทำให้ปราศจากเชื้อสามารถทำได้ที่หน่วยทำให้ปราศจากเชื้อกลาง หรือในพื้นที่อื่นขององค์กร เช่น คลินิกกล้องส่องในท่อซึ่งมีการกำกับดูแลที่เหมาะสม | การทำความสะอาด ทำลายเชื้อ และทำให้ปราศจากเชื้อใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ว่าจะทำที่ใดในองค์กร | การบริหารจัดการหน่วยซักฟอกและบริการผ้าสามารถส่งผลต่อการลดการปนเปื้อนของผ้าสะอาดและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อต่อบุคลากรจากผ้าเปื้อน

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.7.1
Ο 1. มีกระบวนการกำกับดูแลที่ระบุหลักการของการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ
Ο 2. มีกระบวนการกำกับดูแลที่ประสานความร่วมมือเพื่อให้มั่นใจว่าการทำความสะอาด การทำลายเชื้อ และการทำให้ปราศจากเชื้อทั่วทั้งองค์กรเป็นไปในลักษณะเดียวกัน
Ο 3. มีการนำหลักการของการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อไปใช้กับการบริหารจัดการหน่วยซักฟอกและบริการผ้า รวมทั้ง การขนส่ง ความสะอาด และการจัดเก็บ


มาตรฐาน PCI.7.1.1
มีนโยบายและระเบียบปฏิบัติระบุกระบวนการสำหรับจัดการกับอุปกรณ์และวัสดุที่เลยวันหมดอายุ และกำหนดเงื่อนไขสำหรับการนำวัสดุที่ผลิตเพื่อใช้ครั้งเดียวมาใช้ซํ้าเมื่อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับอนุญาต

เจตนาของ PCI.7.1.1
วัสดุการแพทย์ส่วนใหญ่ (สารนํ้า สายสวน วัสดุเย็บ ฯลฯ) มีการระบุวันหมดอายุไว้ | เมื่อพ้นจากวันหมดอายุดังกล่าว ผู้ผลิตจะไม่รับประกันความปราศจากเชื้อ ความปลอดภัย หรือความคงตัวของวัสดุดังกล่าว | วัสดุบางอย่างมีข้อความบ่งชี้ว่าสิ่งที่อยู่ภายในจะปราศจากเชื้อตราบเท่าที่หีบห่อยังสมบูรณ์อยู่เท่านั้น | มีนโยบายระบุกระบวนการเพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีการจัดการอย่างเหมาะสมกับอุปกรณ์และวัสดุที่เลยวันหมดอายุ

อุปกรณ์ที่ออกแบบเพื่อใช้ครั้งเดียว (single-use device) บางชิ้นอาจนำมาใช้ซํ้าได้ภายใต้สถานการณ์เฉพาะ | มีความเสี่ยงสองประการในการนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้ซํ้า คือเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และเสี่ยงที่อุปกรณ์ดังกล่าวอาจจะทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์หรือไม่เป็นที่ยอมรับหลังจากนำไปทำให้ปราศจากเชื้อซํ้า | องค์กรมีนโยบายเป็นแนวทางเมื่อมีการนำอุปกรณ์ที่ออกแบบเพื่อให้ใช้ครั้งเดียวมาใช้ซ้ำ | มีนโยบายสอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและมาตรฐานวิชาชีพ ประกอบด้วยการระบุสิ่งต่อไปนี้

a) อุปกรณ์และวัสดุที่ห้ามนำมาใช้ซํ้า
b) จำนวนครั้งสูงสุดในการใช้ซํ้าสำหรับอุปกรณ์และวัสดุที่มีการนำมาใช้ซํ้า
c) ลักษณะของการแตกชำรุด ฉีกขาด และอื่นๆ ที่บ่งบอกว่าอุปกรณ์นั้นไม่สามารถนำมาใช้ซํ้าได้
d) กระบวนการทำความสะอาดอุปกรณ์ซึ่งเริ่มทันทีหลังการใช้ และปฏิบัติตามระเบียบวิธีที่ชัดเจน และ
e) ระบุผู้ป่วยที่ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่นำมาใช้ซ้ำ
f) กระบวนการสำหรับเก็บ ประเมินความปลอดภัย และใช้ข้อมูลการควบคุมการติดเชื้อที่เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์และวัสดุที่นำมาใช้ซํ้า และมีการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงและปรับปรุงกระบวนการ

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.7.1.1
Ο 1. มีนโยบายและระเบียบปฏิบัติสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของประเทศ และมาตรฐานวิชาชีพระบุกระบวนการสำหรับจัดการกับอุปกรณ์และวัสดุที่เลยวันหมดอายุ (ดูที่ ACC.6)
Ο 2. เมื่อมีการนำอุปกรณ์และวัสดุที่ออกแบบเพื่อใช้ครั้งเดียวมาใช้ซํ้า นโยบายดังกล่าวระบุองค์ประกอบข้อ a) ถึง e) ในหัวข้อเจตนา
Ο 3. มีการนำข้อมูลไปใช้เพื่อระบุความเสี่ยงและการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงและปรับปรุงกระบวนการ


มาตรฐาน PCI.7.2
องค์กรลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วยการจัดการขยะที่เหมาะสม

เจตนาของ PCI.7.2
องค์กรเป็นแหล่งกำเนิดขยะจำนวนไม่น้อยในแต่ละวัน | บ่อยครั้งที่ขยะดังกล่าวเป็น หรือสามารถเป็นขยะติดเชื้อ | ดังนั้น การกำจัดขยะที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในองค์กรได้ (ดูที่ ACC.6 และ FMS.5.1) | เช่นเดียวกันกับความเหมาะสมในการกำจัดสารคัดหลั่งและวัสดุที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง การกำจัดเลือดและส่วนประกอบของเลือด และการกำจัดของเสียจากศพและบริเวณที่ชันสูตรศพ (ถ้ามี)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.7.2
Ο 1. มีการบริหารจัดการการกำจัดขยะติดเชื้อและสารคัดหลั่งเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ
Ο 2. มีการบริหารจัดการการหยิบสัมผัสและกำจัดเลือดและส่วนประกอบของเลือดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ
Ο 3. มีการบริหารจัดการปฏิบัติการของห้องเก็บศพและบริเวณที่ชันสูตรศพเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ


มาตรฐาน PCI.7.3
องค์กรมีนโยบายและระเบียบปฏิบัติ ในการกำจัดเข็มและของมีคม

เจตนาของ PCI.7.3
อันตรายข้อหนึ่งของการบาดเจ็บจากเข็มคือความเป็นไปได้ที่ส่งผ่านเชื้อโรคเข้าไปในกระแสเลือด | การกำจัดเข็มและของมีคมที่ไม่ถูกต้องก่อให้เกิดความท้าทายด้านความปลอดภัยต่อบุคลากรที่สำคัญ | การปฏิบัติงานมีผลต่อความเสี่ยงของการบาดเจ็บและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อการเกิดโรค | การระบุและการดำเนินการตามหลักฐานการปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บจากของมีคม เพื่อให้แน่ใจว่าการได้รับการบาดเจ็บดังกล่าวมีน้อย | องค์กรจำเป็นต้องให้การศึกษากับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความปลอดภัยและการจัดการของของมีคมและเข็ม

การกำจัดของมีคมและเข็มที่เหมาะสมช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บและสัมผัส | การกำจัดที่เหมาะสมคือการใช้ภาชนะบรรจุที่มีลักษณะปิด ป้องกันการทิ่มทะลุ และป้องกันการรั่วไหลที่ด้านข้างและด้านล่าง | บุคลากรควรจะนำมาใช้จากภาชนะบรรจุได้ง่าย และไม่ควรเติมจนล้น

เมื่อการกำจัดเข็ม มีดผ่าตัด (scalpels) และของมีคมอื่นๆ ไม่ได้ทำอย่างเหมาะสม สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ต่อประชาชนทั่วไป และผู้ที่ทำงานในการจัดการของเสีย | การกำจัดของภาชนะบรรจุของมีคมไปในทะเล ตัวอย่างเช่น ถ้าภาชนะแตกและเปิดออกสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงกับประชาชน | โรงพยาบาลจะต้องกำจัดของมีคมและเข็มได้อย่างปลอดภัยหรือการทำสัญญากับหน่วยงานเพื่อให้มั่นใจการกำจัดที่เหมาะสมของภาชนะบรรจุของเสียทางการแพทย์และการที่จะทำเช่นนั้นปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ

องค์กรสร้างความมั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามนโยบายซึ่งชี้นำทุกขั้นตอนในกระบวนการตั้งแต่ประเภทและการใช้ภาชนะจัดเก็บ การกำจัดภาชนะ และการเฝ้าระวังกระบวนการกำจัด (ดูที่ ACC.6)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.7.3
Ο 1. องค์กรระบุนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บและติดเชื้อจากการหยิบสัมผัสและบริหารจัดการกับของมีคมและเข็ม
Ο 2. ของมีคมและเข็มถูกจัดเก็บในภาชนะที่จัดไว้เฉพาะ มีลักษณะปิด ป้องกันการทิ่มทะลุ ป้องกันการรั่วไหล และไม่นำมาใช้ซํ้า
Ο 3. โรงพยาบาลกำจัดของมีคมและเข็มอย่างปลอดภัย หรือทำสัญญากับแหล่งที่มั่นใจว่าสามารถกำจัดภาชนะบรรจุของมีคมในบริเวณที่จัดไว้สำหรับขยะอันตรายโดยเฉพาะ หรือตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของประเทศ


มาตรฐาน PCI.7.4
องค์กรลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสำหรับการดำเนินงานด้านบริการอาหาร

เจตนาของ PCI.7.4
การเก็บอาหารและการเตรียมอาหารอย่างไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วย เช่น โรคอาหารเป็นพิษ หรือการติดเชื้อจากอาหาร | ความเจ็บป่วยจากอาหารอาจเป็นอันตรายได้และเป็นอันตรายต่อชีวิตกับผู้ป่วยที่มีความเจ็บป่วยอยู่ เป็นโรค หรือได้รับบาดเจ็บ | องค์กรต้องจัดหาผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการที่ปลอดภัยและถูกต้อง โดยมั่นใจว่าอาหารที่ถูกจัดเก็บและเตรียมที่อุณหภูมิที่ป้องกันความเสี่ยงของการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย

แหล่งที่มาของการติดเชื้อในอาหารอีกอย่างหนึ่งคือการปนเปื้อนโดยเฉพาะอาหารดิบไปจนถึงอาหารปรุงสุก | การปนเปื้อนสามารถเกิดจากการปนเปื้อนที่ มือ เคาน์เตอร์ เขียง หรือผ้าที่ใช้เช็ดเคาน์เตอร์หรือจานให้แห้ง | นอกจากนี้ พื้นผิวในการเตรียมอาหาร เครื่องใช้ในครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า หม้อและกระทะที่ใช้สำหรับจัดเตรียมอาหาร และถาดจานและเครื่องใช้สำหรับการให้บริการอาหาร มีความเสี่ยงกับการติดเชื้อถ้าไม่ได้ทำความสะอาดอย่างถูกต้องและถูกสุขอนามัย

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.7.4
Ο 1. องค์กรต้องจัดเก็บผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการตามหลักสุขาภิบาล ใช้แสง อุณหภูมิ แสง ความชื้น การระบายอากาศ และความปลอดภัย ในลักษณะที่จะลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
Ο 2. องค์กรเตรียมผลิตภัณฑ์อาหารและโภชนาการ โดยใช้สุขาภิบาลและอุณหภูมิที่เหมาะสม
Ο 3. มีการวัดสุขอนามัยในครัวเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการปนเปื้อน


มาตรฐาน PCI.7.5
องค์กรลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอาคารสถานที่สำหรับการดำเนินงานด้านบริการอาหาร การควบคุมเครื่องกลและวิศวกรรม และในระหว่างการรื้อถอน ก่อสร้าง และปรับปรุง

เจตนาของ PCI.7.5
การควบคุมด้านวิศวกรรม เช่น ระบบหมุนเวียนอากาศความดันบวก (positive ventilation system) ตู้ดูดอากาศปราศจากเชื้อในห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้าของหน่วยทำความเย็น และเครื่องทำนํ้าร้อนในการทำให้จานและอุปกรณ์ในครัวปราศจากเชื้อ เป็นตัวอย่างของบทบาทสำคัญที่มาตรฐานและการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมมีส่วนต่อสุขาภิบาลที่ดีและการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในองค์กร

ในการรื้อถอน ก่อสร้าง และปรับปรุงอาคารสถานที่ในองค์กร อาจเป็นความเสี่ยงจากการติดเชื้อที่สำคัญ | การสัมผัสกับฝุ่นและเศษวัสดุก่อสร้าง เสียง การสั่นสะเทือน และอันตรายอื่นๆ สามารถเป็นอันตรายต่อการทำงานของปอดและต่อความปลอดภัยของบุคลากรและผู้มาเยือน | องค์กรใช้เกณท์ความเสี่ยงพิจารณาผลประทบของการปรับปรุงหรือการก่อสร้างต่อความต้องการคุณภาพอากาศ การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ความต้องการสาธารณูปโภค เสียง การสั่นสะเทือน และหัตถการฉุกเฉิน (ดูที่ FMS.4, ME 3)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.7.5
Ο 1. มีการควบคุมด้านวิศวกรรมอย่างเหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในพื้นที่ที่เหมาะสมขององค์กร
Ο 2. องค์กรใช้เกณท์ความเสี่ยงเพื่อประเมินผลกระทบของการปรับปรุงหรือก่อสร้างใหม่ และนำโปรแกรมไปปฎิบัติเมื่อมีการรื้อถอน ก่อสร้าง หรือปรับปรุงอาคารสถานที่
Ο 3. มีการประเมินและจัดการความเสี่ยงและผลกระทบจากการรื้อถอน ปรับปรุงหรือก่อสร้างใหม่ ในเรื่องคุณภาพของอากาศและกิจกรรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ


มาตรฐาน PCI.8
องค์กรจัดให้มีมาตรการป้องกันทางกายภาพ (barrier precautions) และวิธีปฏิบัติในการแยกผู้ป่วยเพื่อปกป้องผู้ป่วย ผู้มาเยือน และบุคลากรจากโรคติดต่อ รวมถึงปกป้องผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานตํ่ามิให้เกิดการติดเชื้อที่พบบ่อยในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ℗

มาตรฐาน PCI.8.1
องค์กรพัฒนาและนำกระบวนการไปใช้ในการจัดการผู้ป่วยที่ติดเชื้อในอากาศอย่างฉับพลันและเมื่อห้องความดันลบไม่สามารถใช้การได้ ℗

เจตนาของ PCI.8 และ PCI.8.1
องค์กรจัดทำนโยบายและระเบียบปฏิบัติสำหรับการแยกผู้ป่วยและมาตรการป้องกันทางกายภาพในโรงพยาบาล | มาตรการเหล่านี้กำหนดบนพื้นฐานของวิธีการแพร่กระจายของเชื้อโรค พิจารณาผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งอาจจะแพร่เชื้อได้หรือมีภูมิต้านทานตํ่า รวมทั้งการมีผู้ป่วยโรคติดต่อเข้ามาจำนวนมากพร้อมๆ กัน | ขั้นตอนการแยกระบุการปกป้องบุคลากรและผู้มาเยือน สิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย (ดูที่ COP.3)

การป้องกันการติดเชื้อที่แพร่กระจายทางอากาศ (airborne precautions) มีความจำเป็นในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคที่สามารถลอยตัวอยู่ในอากาศเป็นเวลานาน | สถานที่ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่สามารถแพร่เชื้อทางอากาศคือห้องความดันลบ | เมื่อโครงสร้างของอาคารไม่สามารถจัดสร้างห้องความดันลบได้ องค์กรอาจจัดระบบหมุนเวียนอากาศผ่านระบบกรองอนุภาคที่มีประสิทธิภาพสูง (HEPA high-efficiency particulate air) ในอัตราอย่างน้อย 12 air change ต่อชั่วโมง

นโยบายและระเบียบปฏิบัติควรระบุแผนที่จะจัดการกับผู้ป่วยซึ่งมีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในช่วงเวลาสั้นเมื่อไม่มีห้องความดันลบหรือระบบกรองอนุภาค HEPA รวมทั้งการมีผู้ป่วยโรคติดต่อเข้ามาจำนวนมากพร้อมๆ กัน

ระเบียบปฏิบัติในการควบคุมการติดเชื้อระบุการทำความสะอาดห้องระหว่างที่ผู้ป่วยพักอยู่และหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการจำหน่าย

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.8
Ο 1. มีการแยกผู้ป่วยที่ทราบหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อตามนโยบายขององค์กรและแนวทางที่แนะนำไว้ (ดูที่ ACC.6)
Ο 2. นโยบายและระเบียบปฏิบัติระบุการแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อจากผู้ป่วยและบุคลากรซึ่งมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากภูมิต้านทานตํ่าหรือเหตุอื่นๆ
Ο 3. มีห้องความดันลบพร้อมใช้สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องการการแยกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศและได้รับการเฝ้าติดตามเป็นประจำ อาจใช้ระบบกรองอนุภาค HEPA ที่ได้รับการรับรองเมื่อไม่มีห้องความดันลบ ในอัตราอย่างน้อย 12 air change ต่อชั่วโมง
Ο 4. มีการทำความสะอาดห้องติดเชื้อระหว่างที่ผู้ป่วยพักอยู่และหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการจำหน่ายเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติในการควบคุมการติดเชื้อ

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.8.1
Ο 1. นโยบายและระเบียบปฏิบัติระบุวิธีการจัดการกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อซึ่งแพร่กระจายทางอากาศในช่วงเวลาสั้นเมื่อไม่มีห้องความดันลบ
Ο 2. นโยบายและระเบียบปฏิบัติระบุวิธีการจัดการเมื่อมีผู้ป่วยโรคติดต่อมาพร้อมกันคราวละมากๆ
Ο 3. บุคลากรได้รับความรู้ในการจัดการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อเมื่อมีผู้ป่วยมาพร้อมกันคราวละมากๆ หรือเมื่อไม่มีห้องความดันลบ


มาตรฐาน PCI.9
มีถุงมือ หน้ากากปิดจมูกและปาก อุปกรณ์ป้องกันดวงตา อุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ สบู่ และนํ้ายาฆ่าเชื้อพร้อมใช้ และมีการใช้อย่างถูกต้องเมื่อมีข้อบ่งชี้ ℗

เจตนาของ PCI.9
การทำความสะอาดมือเช่นการใช้นํ้ายาทำลายเชื้อ เทคนิคการป้องกันเช่นการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และน้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นเครื่องมือพื้นฐานสำหรับการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อที่เหมาะสม และดังนั้นจำเป็นต้องมีอยู่ในทุกๆ ที่ของการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ | องค์การระบุสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้หน้ากากปิดจมูกและปาก อุปกรณ์ป้องกันดวงตา เสื้อกาวน์ หรือถุงมือ และจัดอบรมให้มีการใช้อย่างถูกต้อง | มีสบู่ นํ้ายาทำลายเชื้อ และผ้าเช็ดมือหรือวิธีอื่นที่ทำให้มือแห้ง จัดไว้ในบริเวณที่จำเป็นต้องมีการล้างมือและทำลายเชื้อ | บุคลากรได้รับความรู้เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติในการล้างมือ การทำลายเชื้อที่มือ หรือการทำลายเชื้อที่พื้นผิว อย่างถูกต้อง รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม (ดูที่ IPSG.5 และ ACC.6)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.9
Ο 1. องค์กรระบุสถานการณ์ที่ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และมั่นใจว่ามีอยู่ในทุกๆ ที่ของการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้
Ο 2. อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลถูกใช้อย่างถูกต้องในสถานการณ์เหล่านั้น
Ο 3. มีการนำวิธีปฏิบัติในการทำลายเชื้อที่พื้นผิวมาใช้ สำหรับพื้นที่และสถานการณ์ในองค์กรที่ระบุว่าเป็นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ
Ο 4. มีสบู่ นํ้ายาทำลายเชื้อ และผ้าเช็ดมือหรือวิธีอื่นที่ทำให้มือแห้ง จัดไว้ในบริเวณที่จำเป็นต้องมีการล้างมือและทำลายเชื้อ


มาตรฐาน PCI.10
มีการบูรณาการกระบวนการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อเข้ากับโปรแกรมพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยผู้ป่วยในภาพรวมขององค์กร ใช้ตัววัดเกี่ยวกับการติดเชื้อที่มีความสำคัญทางระบาดวิทยาสำหรับองค์กร

เจตนาของ PCI.10
องค์กรใช้สารสนเทศจากการเฝ้าวัดมาปรับปรุงกิจกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ และลดอัตราการติดเชื้อเนื่องจากบริการสุขภาพให้อยู่ในระดับตํ่าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ | องค์กรสามารถใช้ข้อมูลและสารสนเทศจากการวัดได้ดีที่สุดด้วยการทำความเข้าใจอัตราและแนวโน้มดังกล่าวในองค์กรที่มีลักษณะคล้ายกัน และส่งข้อมูลเข้าในฐานข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อ | ทุกหน่วยงาน/บริการจะต้องมีส่วนร่วมในความสำคัญในระดับโรงพยาบาลในการวัดและมาตรการที่เลือกสำหรับลำดับความสำคัญในระดับแผนกสำหรับโปรแกรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.10
Ο 1. กิจกรรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อได้รับการบูรณาการเข้ากับโปรแกรมพัฒนาคุณภาพขององค์กรและความปลอดภัยผู้ป่วยขององค์กร (ดูที่ GLD.4 และ GLD.11)
Ο 2. ข้อมูลการติดตามจะถูกเก็บรวบรวมและวิเคราะห์สำหรับกิจกรรมการป้องกันและการควบคุมการติดเชื้อ และรวมถึงการติดเชื้อที่มีความสำคัญทางระบาดวิทยา
Ο 3. ข้อมูลการติดตามจะถูกใช้ในการประเมินและสนับสนุนการพัฒนาโปรแกรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ
Ο 4. ข้อมูลการติดตามถูกบันทึกและรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลและคำแนะนำมีการส่งให้ผู้นำ ไตรมาสละครั้ง


มาตรฐาน PCI.11
องค์กรให้ความรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อให้แก่บุคลากร แพทย์ ผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ให้บริการด้านสุขภาพอื่นๆ ตามข้อบ่งชี้โดยการมีส่วนร่วมในการดูแล ℗

เจตนาของ PCI.11
องค์กรที่มีโปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อที่มีประสิทธิผล จะต้องให้ความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมแก่บุคลากร เมื่อเริ่มปฏิบัติงานและต่อจากนั้นอย่างสม่ำเสมอ | โปรแกรมให้ความรู้ครอบคลุมบุคลากรวิชาชีพ บุคลากรสนับสนุนทั้งด้านคลินิกและมิใช่คลินิก รวมถึงผู้ป่วยและครอบครัว ผู้แทนการค้า และผู้มาเยือนอื่น | ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับการกระตุ้นให้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติเพื่อป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในองค์กร

การให้ความรู้ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปฐมนิเทศแก่บุคลากรใหม่ และมีการฟื้นความรู้เป็นระยะ หรืออย่างน้อยเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ระเบียบปฏิบัติ ที่ชี้นำโปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อขององค์กร | การให้ความรู้ครอบคลุมข้อค้นพบและแนวโน้มจากกิจกรรมวัดผลด้วย (ดูที่ SQE.7)

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PCI.11
Ο 1. องค์กรให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อแก่บุคลากรและผู้ประกอบวิชาชีพทุกคน
Ο 2. องค์กรให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อแก่ผู้ป่วยและครอบครัว
Ο 3. บุคลากรทุกคนได้รับความรู้เกี่ยวกับนโยบาย ระเบียบปฏิบัติ และวิธีปฏิบัติของโปรแกรมป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ
Ο 4. มีการให้ความรู้แก่บุคลากรเป็นระยะ เมื่อพบแนวโน้มที่สำคัญจากข้อมูลการติดเชื้อ
Ο 5. ผลการวิจัยและแนวโน้มจากกิจกรรมการวัดมีการสื่อสารทั่วทั้งโรงพยาบาลและรวมเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเป็นระยะ