fbpx
WeLoveMed.com

การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว (PFE)

JCI

การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว Patient and Family Education (PFE)

มาตรฐาน PFE.1
องค์กรจัดให้มีการให้ความรู้ที่ช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแล และมีส่วนร่วมในกระบวนการดูแล

เจตนาของ PFE.1
องค์กรให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวเพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีความรู้และทักษะสำหรับเข้าร่วมในกระบวนการดูแล (patient care process) และการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแล | แต่ละองค์กรจัดให้การให้ความรู้เข้าไปอยู่ในกระบวนการดูแล บนพื้นฐานเป้าหมายขององค์กร ลักษณะบริการที่ให้ และลักษณะกลุ่มผู้ป่วย | มีการวางแผนการให้ความรู้เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยทุกรายได้รับความรู้ที่จำเป็นต้องได้รับ | องค์กรเลือกวิธีการจัดระบบทรัพยากรเพื่อการให้ความรู้ในลักษณะที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล | องค์กรอาจเลือกที่จะแต่งตั้งผู้ประสานงานหรือคณะกรรมการรับผิดชอบการให้ความรู้ ตั้งหน่วยสุขศึกษา หรือจัดรูปแบบการทำงานง่ายๆ ที่ให้บุคลากรทุกคนร่วมให้ความรู้ในลักษณะที่ประสานกัน

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFE.1
Ο 1. องค์กรวางแผนการให้ความรู้สอดคล้องกับเป้าหมาย ลักษณะบริการที่ให้ และลักษณะกลุ่มผู้ป่วยขององค์กร
Ο 2. มีโครงสร้างหรือกลไกที่เหมาะสมในการให้ความรู้ทั่วทั้งองค์กร
Ο 3. มีการจัดระบบโครงสร้างและทรัพยากรเพื่อการให้ความรู้ในลักษณะที่มีประสิทธิผล


มาตรฐาน PFE.2
มีการประเมินความรู้ที่ผู้ป่วยแต่ละรายจำเป็นต้องได้รับ และบันทึกไว้ในเวชระเบียน

เจตนาของ PFE.2
การให้ความรู้จะมุ่งเน้นความรู้และทักษะเฉพาะที่ผู้ป่วยและครอบครัวต้องการสำหรับตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแล มีส่วนร่วมในการดูแลตนเอง และดูแลต่อเนื่องที่บ้าน | การให้ความรู้นี้แตกต่างจากการให้ข้อมูลทั่วไปชึ่งจะได้รับข้อมูลอย่างเดียวแต่ไม่มีลักษณะของการศึกษาเรียนรู้

มีกระบวนการประเมินที่บ่งชี้ประเภทของการผ่าตัด การทำหัตถการที่มีการใส่เครื่องมือหรืออุปกรณ์เข้าสู่ร่างกาย (invasive procedure) อื่นๆ และการรักษา ที่ได้วางแผนไว้ ความต้องการการดูแลทางการพยาบาลที่ควบคู่กัน และความต้องการการดูแลต่อเนื่องหลังจำหน่าย เพื่อรับทราบสิ่งที่ผู้ป่วยแต่ละรายและครอบครัวควรได้เรียนรู้ | การประเมินนี้ช่วยผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในการวางแผนและให้ความรู้ที่จำเป็น

บุคลากรขององค์กรให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวเพื่อช่วยในการตัดสินใจในกระบวนการดูแล | ความรู้ที่ให้ในขั้นตอนการขอความยินยอมโดยได้รับการบอกกล่าว (informed consent) (เช่น สำหรับการผ่าตัดและการระงับความรู้สึก) ได้รับการบันทึกไว้ในเวชระเบียนผู้ป่วย | นอกจากนั้น เมื่อผู้ป่วยหรือครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย (เช่น การทำแผล การให้อาหารผู้ป่วย การบริหารยา และการรักษา) พวกเขาจำเป็นต้องได้รับความรู้ในเรื่องดังกล่าว

สิ่งที่ต้องเรียนรู้ที่ได้รับการบ่งชี้ ถูกบันทึกไว้ในเวชระเบียนผู้ป่วย | การบันทึกนี้ช่วยให้ผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยทุกคนมีส่วนร่วมในการให้ความรู้ดังกล่าว | แต่ละองค์กรกำหนดตำแหน่งและรูปแบบสำหรับบันทึกการประเมินความรู้ที่ต้องการ การวางแผน และการให้ความรู้ในเวชระเบียนผู้ป่วย

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFE.2
Ο 1. มีการประเมินสิ่งที่ผู้ป่วยและครอบครัวต้องเรียนรู้
Ο 2. มีการบันทึกผลการประเมินสิ่งที่ต้องเรียนรู้ในเวชระเบียนของผู้ป่วย
Ο 3. มีการบันทึกการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยที่เป็นรูปแบบเดียวกันโดยบุคลากรทุกคน


มาตรฐาน PFE.2.1
มีการประเมินความสามารถในการเรียนรู้และความเต็มใจที่จะเรียนรู้ของผู้ป่วยและครอบครัว

เจตนาของ PFE.2.1
จุดแข็งและส่วนขาดด้านความรู้และทักษะได้รับการบ่งชี้และใช้เพื่อวางแผนให้ความรู้ | มีตัวแปรเกี่ยวกับผู้ป่วยจำนวนมากที่จะใช้พิจารณาว่าผู้ป่วยและครอบครัวมีความเต็มใจและความสามารถที่จะเรียนรู้หรือไม่ (ดูที่ PFR.1.1) | ดังนั้น ในการวางแผนการเรียนรู้ องค์กรจะต้องประเมินองค์ประกอบต่อไปนี้

  • การรู้หนังสือ ระดับการศึกษา และภาษาที่ผู้ป่วยและครอบครัวใช้
  • อุปสรรคทางด้านอารมณ์ และแรงจูงใจ และ
  • ข้อจำกัดด้านร่างกายและด้านการรับรู้

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFE.2.1
Ο 1. มีการประเมินการรู้หนังสือ ความรู้ด้านสุขภาพ ระดับการศึกษา และภาษาที่ผู้ป่วยใช้
Ο 2. มีการประเมินผู้ป่วยในด้านอุปสรรคทางด้านอารมณ์ และแรงจูงใจ
Ο 3. มีการประเมินผู้ป่วยในด้านข้อจำกัดด้านร่างกายและด้านการรับรู้
Ο 4. มีการใช้ผลการประเมินในการวางแผนให้ความรู้


มาตรฐาน PFE.3
วิธีการให้ความรู้คำนึงถึงค่านิยมและความพึงใจของผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว และบุคลากร เพื่อให้เกิดการเรียนรู้

เจตนาของ PFE.3
การเรียนรู้เกิดได้เมื่อใส่ใจต่อวิธีการที่ใช้ในการให้ความรู้ผู้ป่วยและครอบครัว | ความเข้าใจผู้ป่วยและครอบครัวช่วยให้องค์กรเลือกผู้ให้ความรู้และวิธีการให้ความรู้ที่สอดคล้องกับค่านิยมและความพึงใจของผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงเพื่อกำหนดบทบาทของครอบครัวและวิธีการสอน | ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการดูแล โดยการสนทนาและถามบุคลากรเพื่อให้มั่นใจว่ามีความเข้าใจที่ถูกต้องและมีส่วนร่วมตามที่คาดหวัง | บุคลากรตระหนักในบทบาทที่สำคัญของผู้ป่วยในการให้การดูแลที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูง | การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคลากร ผู้ป่วย และครอบครัว เปิดโอกาสให้รับเสียงสะท้อนเพื่อความมั่นใจว่าข้อมูลที่ให้นั้นเป็นที่เข้าใจ เหมาะสม เป็นประโยชน์ และนำไปใช้ได้ | องค์กรกำหนดว่าเมื่อไรและอย่างไรที่จะใช้เอกสารยํ้าเสริมเพิ่มจากการให้ความรู้ด้วยวาจาเพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้น และเพื่อเป็นเอกสารความรู้อ้างอิงในอนาคต

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFE.3
Ο 1. มีกระบวนการที่จะสอบทานว่าผู้ป่วยและครอบครัวได้รับและเข้าใจความรู้ที่จัดให้
Ο 2. ผู้ให้ความรู้กระตุ้นให้ผู้ป่วยและครอบครัวตั้งคำถามและสนทนาในฐานะคู่สนทนาที่กระตือรือร้น
Ο 3. มีการใช้เอกสารยํ้าเสริมการให้ความรู้ด้วยวาจาตามภาวะความต้องการของผู้ป่วย สอดคล้องกับความพึงใจในการเรียนรู้ของผู้ป่วยและครอบครัว


มาตรฐาน PFE.4
ผู้ประกอบวิชาชีพที่ให้การดูแลผู้ป่วยร่วมมือกันเพื่อให้ความรู้

เจตนาของ PFE.4
เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพเข้าใจการมีส่วนช่วยเหลือในการให้ความรู้ต่อผู้ป่วยของผู้ประกอบวิชาชีพอื่น จะสามารถร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น | ความร่วมมือจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าข้อมูลที่ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับมีความครอบคลุม สอดคล้อง และได้ผลมากเท่าที่จะเป็นไปได้ | ความร่วมมืออยู่บนพื้นฐานของภาวะความต้องการของผู้ป่วย ดังนั้นจึงอาจไม่จำเป็นเสมอไป | ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาในแต่ละหัวข้อ การมีเวลาให้ความรู้ที่พอเพียง และความสามารถในการสื่อสารที่มีประสิทธิผล เป็นข้อพิจารณาที่สำคัญในการให้ความรู้ที่มีประสิทธิผล

องค์ประกอบที่วัดได้ (ME) ของ PFE.4
Ο 1. มีการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวด้วยความร่วมมือกัน เมื่อมีข้อบ่งชี้
Ο 2. ผู้ให้ความรู้มีความรู้ในเนื้อหาที่จะให้
Ο 3. ผู้ให้ความรู้มีเวลาเพียงพอที่จะให้ความรู้
Ο 4. ผู้ให้ความรู้มีทักษะการสื่อสารที่จะให้ความรู้